โครงการเสียงน้อยๆ จากเด็กถูกรังแก

พื้นที่ดำเนินงาน : ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น กลุ่มเยาวชนสภานักเรียนโรงเรียนดารุสซาลาม 61 เห็นสภาพปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับสังคม ครอบครัว ทำให้ส่งผลกระทบต่อเยาวชนไทยที่ทำให้มีความก้าวร้าว และมีพฤติกรรมความรุนแรงไปด้วย เกิดการรังแกกัน จึงมีแนวคิดอยากพัฒนาและเสริมสร้างเยาวชนไทยให้รักตัวเองและเล็งเห็นถึงผลกระทบที่ตามมาในการที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลและผลที่จะเกิดกับตัวเองรวมถึงคนรอบข้างมากขึ้น จึงได้คิดโครงการเสียงน้อยๆ จากเด็กถูกรังแกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้ถึงสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตในเรื่องของความรุนแรง 2) เพื่อให้เด็กตระหนักถึงผลกระทบของการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะในครอบครัวเพื่อนฝูงหรือสังคม 3) เพื่อปลูกฝังให้มีความคิดริเริง สร้างสรรค์ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น 4) เด็กสามารถมีความคิดเป็นของตัวเองในการแสดงความคิดเห็นโดยผ่านการสร้างสื่อ น้องๆ กลุ่มนี้ได้จัดกิจกรรมกับนักเรียนในพื้นที่ของตนเอง โดยเน้นทำกิจกรรมกับนักเรียนวัยรุ่นตอนต้น กิจกรรมที่จัดได้แก่ การฝึกอบรมเด็กเกี่ยวกับการลดใช้ความรุนแรง ในหัวข้อ ไขปัญหาความรุนแรง โดยวิทยากร จากมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย การแสดงละครเกี่ยวกับการลดใช้ความรุนแรง การระดมความคิดเห็นและร่วมกันทำสื่อที่เกี่ยวข้องกับการลดใช้ความรุนแรง และจัดการเล่นเกมที่ช่วยเพิ่มทักษะให้เด็กได้ใช้เหตุผล สติและความสามัคคีในการเล่น

โครงการสานฝันเทคโนโลยีการศึกษา

พื้นที่ดำเนินงาน : อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ กลุ่มชมรมคอมพิวเตอร์จิตอาสา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เล็งเห็นว่าแม้ในปัจจุบัน การศึกษาขั้นพื้นฐานสนับสนุนการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ แต่ห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนต่างๆ ก็ยังไม่มีความพร้อม บุคลากรในโรงเรียนและนักเรียน ยังขาดทักษะในการดูแลรักษาคอมพิวเตอร์ ประกอบกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงทำให้คอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์สารสนเทศของโรงเรียนไม่พร้อมที่จะจัดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ทางชมรมคอมพิวเตอร์จิตอาสาจึงได้คิดโครงการสานฝันเทคโนโลยีการศึกษาขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์1) เพื่อให้คุณครูและนักเรียนได้มีควำมรู้ในด้านกำรใช้คอมพิวเตอร์เบื้อนต้นและการใช้ประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องและเหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน 2) เพื่อทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ และ 3) เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนำและแสดงความสามารถตามศักยภาพของตนเอง โครงการนี้ได้เข้าไปประสานงานกับโรงเรียนสุไหงโกลก อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เพื่อทำกิจกรรมซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สารสนเทศของโรงเรียน โดยให้ความรู้และฝึกทักษะแก่ครูและนักเรียนในการดูแลคอมพิวเตอร์ด้วย

โครงการว่ายน้ำเพื่อชีวิต (Life Saving)

พื้นที่ดำเนินงาน : ต.ปานาเระ อ.เมือง จ.ปัตตานี สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น ในแต่ละปี อุบัติเหตุทางน้ำคร่าชีวิตเด็กและเยาวชนของประเทศไทยไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กและเยาวชนไทยว่ายน้ำไม่เป็น และไม่รู้วิธีการเอาตัวรอดทางน้ำ เช่นเดียวกับในพื้นที่ ต.ปานาเระ อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ลอยตัวในน้ำไม่ได้ ว่ายน้ำไม่เป็น จึงมีความเสี่ยงในการจมน้ำสูง กลุ่มเยาวชนในพื้นที่จึงได้รวมตัวกัน พร้อมกับแรงสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลปานาเระ จนเกิดเป็นโครงการว่ายน้ำเพื่อชีวิต (Life Saving) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อฝึกอบรมการเอาตัวรอดในน้ำให้แก่เด็กและเยาวชน 2) เพื่อฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแก่เด็กและเยาวชน และ 3) เพื่อเพิ่มพูนและพัฒนาความรู้ความสามารถ แนวทางปฏิบัติ การรักษาความปลอดภัยในกิจกรรมทางน้ำตามมาตรฐานสังคมที่ถูกต้อง โครงการว่ายน้ำเพี่อชีวิต ได้จัดกิจกรรมอบรมการเอาชีวิตรอดและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ต.ปานาเระ ทั้งในภาคทฤษฎี และ ปฏิบัติ ซึ่งหลังจากดำเนินการแล้ว พบว่าเยาวชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมกิจกรรม มีทักษะการลอยตัว การว่ายน้ำ และการเอาชีวิตรอดในน้ำได้ดีขึ้น และยังมีน้องๆ บางส่วนที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำได้อีกด้วย

โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการคณะทำงาน สร้างพลังนักสื่อสารเยาวชน เสริมการเรียนรู้สู่สันติภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเขียนข่าว

พื้นที่ดำเนินงาน : อ.เมือง จ.ปัตตานี สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น กลุ่มเยาวชนโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เห็นความสำคัญของสื่อในฐานะเครื่องมือส่งเสริมสันติภาพ จึงได้ริเริ่มโครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการคณะทำงาน สร้างพลังนักสื่อสารเยาวชน เสริมการเรียนรู้สู่สันติภาพขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเสริมสร้างพลังนักสื่อสารเยาวชน เสริมการเรียนรู้สู่สันติภาพ ในกลุ่มเยาวชนผู้ผ่านการฝึกเป็นนักข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาในการเขียนข่าวของเยาวชนผู้ผ่านการฝึกเป็นนักข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) เพื่อเปิดพื้นที่การสื่อสารเชิงบวกและการสื่อสารสันติภาพให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ 4) เพื่อพัฒนาเครือข่ายพลังนักการสื่อสารและการสื่อสารสันติภาพเพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ และ 5) เพื่อให้มีการนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์เชิงบวกในพื้นที่โดยการเล่าเรื่องจากคนในพื้นที่เองที่เป็นเยาวชนอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมสำคัญของโครงการ ได้แก่ การจัดการฝึกอบรมนักข่าวสันติภาพแก่เยาวชนที่สนใจและกลุ่มนักข่าวเยาวชน เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ โดยแชร์ประสบการณ์ของแต่ละคนที่เคยผ่านการเขียนข่าว โดยมีผู้เชียวชาญคอยให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญๆ เช่น สถานการณ์ชายแดนใต้ กระบวนการสันติภาพ/การพูดคุยสันติสุข การสื่อสารสันติภาพ การรู้เท่าทันสื่อ บทบาทและโอกาสของเยาวชนในการสร้างสันติภาพ เทคนิควิธีการเขียนสกู๊ปข่าว ฯลฯ และเพื่อให้กลุ่มนักข่าวเยาวชนและเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้ฝึกปฏิบัติการเขียนข่าวเพื่อการสื่อสารสาธารณะ และ ไปจนถึงการนำเสนอผ่านเว็บไซต์ www.sinaran.news

โครงการสื่อสารสร้างสรรค์จากนิทานชุมชน

พื้นที่ดำเนินงาน : อ.สะเมิง และ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น นิทานถือเป็นสื่อเชื่อมโยงคนในชุมชนจากรุ่นต่อรุ่น เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิด ความเชื่อ และภูมิปัญญาสำคัญของผู้คน ชนเผ่าปกาเกอะญอก็มีนิทานเก่าแก่ที่เล่าสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายไปตามกาลเวลา โครงการสื่อสร้างสรรค์จากนิทานชุมชน มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อขยายการเรียนรู้การทำสื่อนิทานและละครหุ่นเงาจากนิทานที่มีอยู่ในชุมชน ให้กับกลุ่มเครือข่าย 2) เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวแทนเยาวชนที่โจ๊ะมาโลลือหล่าให้เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการณ์กระบวนการเรียนรู้และผลิตสื่อจากนิทานชุมชน และ 3) เพื่อรักษา และสืบทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม ของชุมชนปก่าเก่อญอ ผ่านการรับฟัง และเล่าเรื่อง ซึ่งใช้กระบวนการการผลิตสื่อที่สร้างโดยเยาวชน โครงการนี้ชวนเยาวชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ไปเก็บนิทานจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน และนำมาผลิตเป็นละครหุ่นเงา ซึ่งเป็นสื่อที่น่าสนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถนำไปแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้ดี อีกทั้งยังรวบรวมและผลิตหนังสือนิทานทำมือจากนิทานพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ เมื่อผลิตสื่อได้แล้ว น้องๆ ก็เดินสายเผยแพร่นิทาน ทั้งในรูปแบบหนังสือและละครหุ่น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการส่งต่อภูมิปัญญาของชุมชนให้สืบเนื่องต่อไปในวงกว้าง แต่ยังเป็นการฝึกฝนตนเองให้เรียนรู้และสื่อสารภูมิปัญญาของตนเองของเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกด้วย

1 8 9 10 11 12 19