โครงการสื่อสารสร้างสรรค์จากนิทานชุมชน

พื้นที่ดำเนินงาน : อ.สะเมิง และ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น นิทานถือเป็นสื่อเชื่อมโยงคนในชุมชนจากรุ่นต่อรุ่น เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิด ความเชื่อ และภูมิปัญญาสำคัญของผู้คน ชนเผ่าปกาเกอะญอก็มีนิทานเก่าแก่ที่เล่าสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายไปตามกาลเวลา โครงการสื่อสร้างสรรค์จากนิทานชุมชน มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อขยายการเรียนรู้การทำสื่อนิทานและละครหุ่นเงาจากนิทานที่มีอยู่ในชุมชน ให้กับกลุ่มเครือข่าย 2) เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวแทนเยาวชนที่โจ๊ะมาโลลือหล่าให้เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการณ์กระบวนการเรียนรู้และผลิตสื่อจากนิทานชุมชน และ 3) เพื่อรักษา และสืบทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม ของชุมชนปก่าเก่อญอ ผ่านการรับฟัง และเล่าเรื่อง ซึ่งใช้กระบวนการการผลิตสื่อที่สร้างโดยเยาวชน โครงการนี้ชวนเยาวชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ไปเก็บนิทานจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน และนำมาผลิตเป็นละครหุ่นเงา ซึ่งเป็นสื่อที่น่าสนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถนำไปแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้ดี อีกทั้งยังรวบรวมและผลิตหนังสือนิทานทำมือจากนิทานพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ เมื่อผลิตสื่อได้แล้ว น้องๆ ก็เดินสายเผยแพร่นิทาน ทั้งในรูปแบบหนังสือและละครหุ่น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการส่งต่อภูมิปัญญาของชุมชนให้สืบเนื่องต่อไปในวงกว้าง แต่ยังเป็นการฝึกฝนตนเองให้เรียนรู้และสื่อสารภูมิปัญญาของตนเองของเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกด้วย

โครงการท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ

พื้นที่ดำเนินงาน : อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น (YIM61) เมื่อปี พ.ศ.2559 หัวหน้าโครงการท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติได้มีโอกาสทำโครงการด้านการท่องเที่ยวชุมชนในหมู่บ้านที่ตนศึกษาอยู่ โครงการดังกล่าวทำให้มีประสบการณ์.ในการจัดกิจกรรม การทำงานกับชาวบ้าน ได้ลองทำแผนที่ และออกแบบโปรแกรมกิจกรรมการท่องเที่ยว ทดลองทริปที่ตัวเองเขียนโปรแกรมเอง ออกแบบสื่อและประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านเฟสบุ๊ก โครงการดังกล่าวเหมือนเป็นการฝึกฝนตนเองให้สามารถทำกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวธรรมชาติที่เขารักให้ดีขึ้น มาถึงปี พ.ศ.2561 ศักดิ์สิทธิ์ สรรค์สร้างและเพื่อนๆ ได้รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อทำโครงการด้านการท่องเที่ยวที่มีประโยชน์แก่หมู่บ้าน สิ่งแวดล้อม ทำให้หลายๆกลุ่มคนมองเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่จะทำให้เราเข้าใจการเป็นอยู่ของระบบธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อธรรมชาติมากขึ้นโดยต่อยอดจากการเรียนรู้และแกนนำเยาวชนที่ร่วมศึกษาด้านการท่องเที่ยวร่วมกันในโครงการที่แล้ว ทำให้เกิดเป็นโครงการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน 2) เพื่อเกิดกลุ่มจัดการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้และทำคู่มือการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้บ้านสบลาน และ 3) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนเห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ โครงการนี้มีกิจกรรมที่โดดเด่นคือกิจกรรมล่องแม่ขานไปกับโจ๊ะ ที่ทีมงานโครงการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกันวางแผน สำรวจเส้นทาง ออกแบบทริป ประชาสัมพันธ์ และสื่อข้อมูลการท่องเที่ยวธรรมชาติในทริปด้วยตนเองบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติอุทยานแห่งชาติออบขาน กิจกรรมนี้ทำให้น้องๆ แกนนำเยาวชนที่เรียนรู้กับโครงการได้มีโอกาสสื่อความหมายการท่องเที่ยวบนเส้นทางธรรมชาติกับผู้มาร่วมท่องเที่ยวในทริปจริงๆ และยังสร้างความประทับใจให้กับผู้มาร่วมทริปอีกด้วย

โครงการ Deep south Students Council (DSC)

พื้นที่ดำเนินงาน : จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น สภานักเรียนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มนักเรียนที่เป็นแกนนำและมีบทบาทในโรงเรียน สภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (DSC) ก็เช่นกัน เป็นกลุ่มเครือข่ายที่ร่วมมือกันและมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ และยังมีประสบการณ์ในการริเริ่มและจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเยาวชนในพื้นที่ สภานักเรียนในโรงเรียนที่เป็นเครือข่าย DSC ต่างก็มีการทำกิจกรรมของตนเองในพื้นที่ ดังนั้น โครงการ Deep south Students Council (DSC) จึงเป็นการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนเครือข่ายสภานักเรียน มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสามจังหวัด ชายแดนใต้ (DSC) 2) เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง 3) เพื่อยกระดับกระบวนการการมีส่วนร่วมของสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนใต้ในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัย และ 4) เพื่อสร้างกระบอกเสียงในการสื่อสารสันติภาพชายแดนใต้ กิจกรรมสำคัญที่ทางกลุ่มจัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเครือข่าย ได้แก่ Lunch Talk ซึ่งเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจ เป็นพื้นที่สื่อสารของสภานักเรียนในเครือข่าย และยังมีการร่วมมือและส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของสภานักเรียนในเครือข่ายทั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย ติดตามให้กำลังใจพวกเขาได้ที่ เพจเฟสบุ๊ค deep south student council – dsc

โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนอำเภอฝางเพื่อจัดกระบวนการลดปัญหายาเสพติดและป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในชุมชน

พื้นที่ดำเนินงาน : อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น กลุ่มสันทรายน้ำหนึ่ง คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานพัฒนาเยาวชนในพื้นที่อำเภอฝางมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาของวัยรุ่นทั้งเรื่องยาเสพติดและการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรยังคงเป็นปัญหาที่ยังคงพบอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น และขยายความรุนแรงไปสู่ปัญหาสังคมได้ในอนาคต ทางกลุ่มจึงได้รวมตัวเยาวชนในพื้นที่มาร่วมกันคิดกระบวนการที่จะดึงเด็กและเยาวชนในอำเภอฝางให้ห่างไกลยาเสพติดและการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยการชวนเยาวชนในอำเภอฝางมาเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ และออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาในพื้นที่ตำบลของตนเองตามความคิดสร้างสรรค์และสภาพปัญหาที่พบในพื้นที่ ในโครงการที่ชื่อว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนอำเภอฝางเพื่อจัดกระบวนการลดปัญหายาเสพติดและป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในชุมชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อให้เยาวชนอำเภอฝางสามารถออกแบบและฝึกทักษะในการนำกระบวนการในการฝึกการอบรมลดปัญหายาเสพติดและป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรแก่เยาวชนในชุมชนได้2)เพื่อให้เยาวชนอำเภอฝางมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปัญหายาเสพติดและปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของเยาวชน และ 3) เพื่อให้เยาวชนในอำเภอฝางมีการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมในชุมชนของตนเองได้ กระบวนการดำเนินกิจกรรมมีลักษณะเป็นการฝึกอบรมเพื่อให้เยาวชนอำเภอฝางได้ออกแบบและฝึกทักษะในการนำกระบวนการในการฝึกการอบรมและรวมกลุ่มเยาวชนแต่ละตำบลในอำเภอฝาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตให้รู้เท่าทันปัญหาและการเปลี่ยนแปลงของสังคม และได้ลงมือทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อชุมชนตนเองจริงด้วย

โครงการฮู้คุณค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน

พื้นที่ดำเนินงาน : อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ สนับสนุนโดย : โครงการเยาวชนประกอบฝันสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น (YIM61) ชนเผ่าปกาเกอะญอมีภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมและการทำมาหากินที่สืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน จากการผลิตเพื่อดำรงชีวิตเฉพาะตนเมื่อสมัยก่อน ปัจจุบันรูปแบบชีวิตเปลี่ยนไป ชาวบ้านจำเป็นจะต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตมากขึ้น ภูมิปัญญาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า การหาน้ำผึ้งป่า ถือว่าเป็นต้นทุนที่สามารถใช้ในการสร้างรายได้ แต่จะทำอย่างไรให้สินค้าโดนใจคนรุ่นใหม่ และเป็นสื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนได้ด้วย จากโจทย์ดังกล่าว โครงการฮู้คุณค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนจึงเกิดขึ้นโดยมันสมองของนักเรียนศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนและคนในชุมชน เห็นคุณค่าและอนุรักษ์ต่อยอดวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่มีค่าไว้ 2) เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นที่ยอมรับและมีการใช้งานที่ตอบโจทย์คนในสังคม และ 3) เพื่อการสร้างแบรนด์และแพ็คเกจจิ้งที่สะท้อนคุณค่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชุมชนในสังคมวงกว้าง แม้จะมีใจรักในด้านศิลปะและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวปกาเกอะญอ และได้มีการทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเอาไว้บ้างแล้วจากการทำโครงการกับ YIM59 แต่เมื่อต้องมาทำแบรนด์ให้สื่อสารเรื่องราวชุมชนสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ประกอบกับต้องเป็นแบรนด์ที่โดนใจคนรุ่นใหม่ น้องๆ ทีมงานก็ต้องเรียนรู้กับผู้รู้ด้านแบรนด์ ช่วยกันลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านในชุมชน ออกแบบ และลองนำไปใช้จริงในการทำแคตตาล็อกสินค้าของชุมชนและในการผลิตสินค้าของร้านโจ๊ะ IDEE จนในที่สุดก็ได้โลโก้ของแบรนด์และบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชนที่สามารถนำไปใช้จริง

1 2 3 4 5 7