จากขยะเศษอาหาร “เปลือกส้ม” ขยับสู่เอกลักษณ์การท่องเที่ยวของชุมชนล่ามช้าง กับ โครงการเตร็ดเตร่เหล่ล่ามช้าง กลุ่มจิตอาสาแคร์แชร์ทีม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่

วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ โดยกลุ่มจิตอาสาแคร์แชร์ทีม ทำงานร่วมกับชุมชนล่ามช้าง อ.เมือง จ.เชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวในเขตเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นที่น่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว เป้าหมายก็เพื่อให้ชุมชนได้รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และ สร้างรายได้แก่คนในชุมชนผ่านการท่องเที่ยว ในปีนี้ สมาชิกกลุ่มจิตอาสาแคร์แชร์ทีมเห็นว่าในชุมชนมีขยะเศษอาหาร ได้แก่ เปลือกส้ม ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นของหลาย ๆ อย่างได้ จึงสนใจที่จะลองนำมาแปรรูปเป็นของที่สามารถใช้เป็นจุดเด่นเสริมกับการท่องเที่ยวของพื้นที่ชุมชนล่ามช้างได้ ในที่สุด ก็ตกผลึกไอเดียสู่การทำ “เทียนหอมเปลือกส้ม” ในรูปแบบของผางประทีป ที่คนล้านนานิยมจุดให้ความสว่างไสวในเทศกาลยี่เป็ง และประดับงานยามค่ำคืนฤดูหนาวให้ดูสวยงาม น้อง ๆ เยาวชนจึงได้ทดลองนำเปลือกส้มมาทำเป็นเทียนหอม ปรับสูตรกันหลายครั้ง จนลงตัว เมื่อได้เทียนหอมเปลือกส้มแล้ว ก็ได้มีการทำเพื่อใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนในช่วงฤดูหนาว ปี 2563 มีการแจกเทียนหอมเปลือกส้มให้นักท่องเที่ยวได้ลองจุด ลองดม ซึ่งก็พากันประทับใจในเทียนหอมเปลือกส้ม และความสวยงามของบรรยากาศชุมชนที่ประดับประดาด้วยเทียนหอมเปลือกส้ม นอกจากการทำเทียน น้องๆ กลุ่มนี้ยังมีส่วนร่วมในการศึกษาข้อมูลชุมชน จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้แก่ชุมชน และมีการผนึกกำลังอาจารย์ของวิทยาลัย เข้ามาทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอื่น ๆ กันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โควิด – 19 ทำรายได้คนในชุมชนหดหาย เด็กและเยาวชนมองหาช่องทางสร้างรายได้ช่วยเหลือครอบครัวกับโครงการสร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ครอบครัว ต.สันทราย อ.ฝาง

ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด – 19 รัฐบาลมีมาตรการควบคุมโรคติดต่อ แม้จะจำเป็นต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรค แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของประชาชน เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่สันทราย อ.ฝาง เดิมเคยมีงานรับจ้าง ออกไปทำตามที่ต่าง ๆ หรือเปิดร้านค้าขายตามตลาดนัดได้อย่างอิสระ แต่ปัจจุบัน ต้องสูญเสียรายได้จากการที่ต้องหยุดงาน เด็กและเยาวชนในครอบครัวที่ประสบปัญหาเหล่านี้ ต่างมีความกังวลต่อปัญหาเรื่องรายได้ และมองเห็นว่าตนเองก็สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ กลุ่ม CHC Fang Team ผู้ทำโครงการเพื่อชุมชนในพื้นที่สันทรายต่อเนื่องมาสองรุ่น จึงชวนน้อง ๆ ในชุมชนมาช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยกัน เมื่อได้มีการพูดคุยกับกลุ่มเยาวชน ทำให้พบว่าในพื้นที่มีภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างรายได้ได้อยู่หลายท่าน เช่น การทำปาท่องโก๋ การทำข้าวแต๋น การทำไม้กวาด ซึ่งเป็นของที่แม้เศรษฐกิจจะไม่ดีก็ยังสามารถขายได้ และลงทุนไม่มาก นอกจากนี้ น้อง ๆ เยาวชนเองก็มีแนวคิดในการที่จะลงทุนทำธุรกิจเล็ก ๆ เช่น ขายสินค้าออนไลน์ เปิดร้านขายอาหาร/ขนมเล็ก ๆ กลุ่ม CHC Fang Team จึงชวนเพื่อน ๆ เยาวชนมาเรียนรู้ทักษะในท้องถิ่นที่สามารถสร้างรายได้ การคิดต้นทุน การทำบัญชี และเทคนิควิธีการค้าขาย ให้เพื่อน ๆ ได้ติดอาวุธด้านการทำอาชีพด้วยกัน […]

โครงการขยะคุณ (นะ) ทำ ชวนชุมชนบ้านห้วยบงจัดการขยะในครัวเรือนอย่างเป็นระบบ

ทีมขยะคุณ (นะ) ทำ เป็นทีมแกนนำเยาวชนของตำบลเขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่มีจิตอาสาช่วยกิจกรรมของชุมชนมาโดยตลอด มีปัญหาหนึ่งที่ทีมงานเห็นแล้วหนักใจ คือ ปัญหาการจัดการขยะในชุมชน ที่เดิมเคยมีบ่อขยะก็ยังมีการทิ้งไม่เป็นที่ ไม่มีการแยกขยะ แต่ปัจจุบัน บ่อขยะไม่ใช่ทางเลือกในการจัดการขยะอีกต่อไป ทั้งมีข้อกฎหมายห้ามทำ และ เป็นการจัดการขยะที่ไม่จบสิ้น ทีมขยะคุณ (นะ) ทำจึงจัดทำโครงการเพื่อชวนให้ชาวบ้านในบ้านเกิดของตัวเอง มาเรียนรู้การจัดการขยะ วางระบบการจัดการร่วมกัน โดยมีการร่วมมือกับผู้นำชุมชนในการประชุมเพื่อก่อเกิดข้อตกลงในการที่จะแยกขยะ โดยเฉพาะพวกขวดน้ำดื่มจากงานมงคลและอวมงคลในบริเวณวัด และได้มีการประสานกับโรงเรียนบ้านห้วยบง ที่มีนโยบายในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนแยกขยะ โดยทางโครงการได้สนับสนุนกรงเหล็กในการแยกขยะสำหรับโรงเรียนและชุมชน และจัดกิจกรรมฝึกอบรมการแยกขยะที่ถูกต้องให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยบงด้วย เพื่อให้สามารถแยกขยะในโรงเรียนได้จริง และเพื่อให้เป็นการส่งเสริมกลุ่มผู้นำชุมชนในการที่จะทำให้เกิดระบบการจัดการขยะทั่วทั้งชุมชน และ เป็นระบบ ทางโครงการจึงได้จัดกิจกรรมการศึกษาดูงาน โดยพาตัวแทนผู้นำชุมชนและโรงเรียน ไปดูงานในโครงการคัดแยกขยะ ณ ค่ายมานะธรรมสัมพันธ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรของทางค่ายให้ความรู้ กระตุ้นพลังให้ผู้นำชุมชนกลับไปต่อยอดการทำงานที่ทำร่วมกับโครงการขยะคุณ (นะ) ทำในปีนี้ ไปสู่การจัดการขยะที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

แม่ค้ารุ่นเยาว์เรียนรู้การค้าขายผ่านการรวมกลุ่มทำร้านก๋วยเตี๋ยวในชุมชน

เยาวชนหญิงบ้านสันธาตุหลายคนเรียนนอกระบบ และประสบปัญหาว่างงาน บางคนไม่ได้ว่างงาน แต่ก็มีความต้องการที่จะค้าขาย ทำกิจการบางอย่างเป็นของตัวเอง เมื่อมีโอกาสในการทำโครงการ พวกเขาจึงอยากสร้างอาชีพให้เป็นจริง โดยการรวมตัวกัน วางแผนดูว่าคนในชุมชนชอบกินอะไร พบว่าชาวบ้านชอบกินก๋วยเตี๋ยว น้ำหวาน น้ำแข็งไส น้อง ๆ จึงไปเรียนรู้วิธีการทำอาหารเหล่านี้ ประสานความร่วมมือกับชุมชนในการหาพื้นที่สร้างร้านเล็ก ๆ ของพวกเขา ในที่สุดร้านค้าก็เสร็จสิ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน กลุ่มเด็กผู้หญิงที่รวมตัวกันค้าขาย พากันไปซื้อของ จดบันทึกบัญชี เตรียมทำก๋วยเตี๋ยวและน้ำหวานเพื่อจำหน่าย วันดี คือ วันอาทิตย์ที่ทุกคนต้องมาโบสถ์คริสต์ของหมู่บ้าน ทำให้มีชาวบ้านมาอุดหนุนการค้าขายในวันแรกอย่างมากมาย กลุ่มน้อง ๆ ดีใจที่ขายของได้ ชาวบ้านวนเวียนกันมาซื้อของต่อเนื่องทั้งวัน เด็กและเยาวชน ช่วยกันเก็บร้าน และค้าขายต่อเนื่องในทุกวันหยุด เพื่อไม่ให้กระทบกับการไปโรงเรียน ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าสินค้าจะขายดีไหม แต่เด็ก ๆ ก็ได้เริ่มเรียนรู้การค้าขายผ่านการลงมือทำจริง และมีความหวังที่จะสามารถทำเป็นอาชีพได้ในอนาคต

ปลูกผันปันยิ้ม by Green Ranger Juniors มุ่งสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่เรียนรู้คุณค่าพื้นที่สีเขียวในเมือง ผ่านการปลูกผัก และ สำรวจต้นไม้ในเมืองเชียงใหม่

กลุ่ม Green Rangers Jr. เป็นกลุ่มอาสาสมัครเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจสีเขียว มีทักษะและความรู้ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความรู้และการดูแลต้นไม้ในเมือง ตลอดจนการสร้างกระบวนการให้คนกับต้นไม้อยู่ร่วมกันและเอื้อประโยชน์กัน สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ พื้นที่สีเขียวกลางเมืองเชียงใหม่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนหลากหลายกลุ่ม ได้เข้ามาเรียนรู้คุณค่าของพื้นที่สีเขียว ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ไปจนถึงพื้นที่การเรียนรู้ในด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม กลุ่ม Green Rangers Jr. ได้ใช้พื้นที่นี้ในการจัดกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง Green Rangers Juniors ไม่เพียงแต่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังมุ่งสร้างทีม ฝึกทักษะความรู้แก่อาสาสมัครรุ่นใหม่ ๆ ของทีมที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองต่อเนื่อง

1 2 3 4 5 6 11