โครงการอาสายุวกาชาด มศว รักษ์คลองแสนแสบ พ.ศ. 2563

โครงการอาสายุวกาชาด มศว รักษ์คลองแสนแสบ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางน้ำรวมทั้ง ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น สามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมไปใช้ในในชีวิตประจำวัน และผู้เข้าร่วมโครงการเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนของชุมชน โดยการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับคลองแสนแสบให้กับนักเรียนในชุมชนที่อยู่ใกล้กับคลองแสนแสบ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงกับคลองแสนแสบในเขตวัฒนา ได้แก่ โรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน และโรงเรียนวิจิตรวิทยา ในการดำเนินกิจกรรมงวดที่ 1 มีการประชุมวางแผน และลงพื้นที่ในชุมชน หลังจากการเกิด Covid-19 ทำให้ต้องมีการปรับแผนกิจกรรมเกือบทั้งหมด โดยจากที่มีการอบรมวิทยากรในการจัดกิจกรรม จำนวน 1 วัน และอบรมนักเรียนจำนวน 2 วัน เปลี่ยนเป็น การให้คำปรึกษาออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญ และลงทำกิจกรรมให้กับนักเรียนทั้ง 2 โรงเรียนคือ โรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน และโรงเรียนวิจิตรวิทยา โรงเรียนละ 4 ครั้ง รวม 8 ครั้ง โดยระยะเวลา ภาพรวมถูกปรับเปลี่ยนจากจบการดำเนินงานในช่วงเดือนพฤศจิกายนเปลี่ยนเป็นจบลงในปลายเดือนธันวาคม เบื้องต้นทางชุมชนและโรงเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมภูมิใจในการทำงานมาก เพราะได้เรียนรู้ ปรับตัว แก้ปัญหาในระหว่างการทำโครงการจนเกิดทักษะและสามารถนำไปใช้กับงานอื่นในคณะได้ เพราะทุกสัปดาห์ที่ไปลงพื้นที่ต้องเปลี่ยนแผนสัปดาห์ต่อสัปดาห์ทำให้ยากในเรื่องการจัดการ และที่ยากที่สุดคือการประสานงาน แต่พอผ่านมาได้รู้สึกดีใจมาก ๆ

โครงการ COVID – 19 Info

โครงการ COVID-19 Info เป็นโครงการออกแบบบอร์ดเกมเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 ซึ่งใช้เกมเป็น สื่อกลางเพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์และแนวทางการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยต่อสู้กับโรคนี้ ได้อย่างถูกต้อง โดยเกม COVID-19 Info ออกแบบให้กับผู้เล่นที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปสามารถเล่นได้ เนื้อหาภายในเกมจะเกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้ เห็นความสำคัญของการป้องกันเพื่อลดการแพร่ระบาดไม่ให้รุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มจากการรับผิดชอบดูแล กระบวนการทำงาน 1) การลงพื้นที่สำรวจมาตรการป้องกันไวรัสโควิด 19 ของโรงเรียนนาหลวง 2) กิจกรรม Play Test COVID-Info เป็นการจัดกิจกรรมทดลองเล่นบอร์ดเกมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 40 คน 3) การปรับปรุงและการผลิตเกมเพื่อมอบให้กับโรงเรียนนาหลวง จากการทำงานจริงทำให้ค้นพบว่า เด็กกับบอร์ดเกมเป็นของคู่กัน เด็ก ๆ ชอบบอร์ดเกม เพราะสนุก และเข้าใจง่าย ทีมเองก็รู้สึกดีใจที่ได้ใช้ทักษะมาทำงานให้เกิดประโยชน์กับชุมชน

โครงการ Din to Dream

“การทำโครงการทำให้พวกผมได้ประสบการณ์จากการทำงานชุมชนจริง ๆ” ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาพวกเขาต่างได้รับประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียง จนทำให้มีการเติบโตทางวิธีคิด ทักษะการทำงาน และภาวะผู้นำเป็นอย่างมาก “ป้า ๆ ทีมประธานชุมชนบอกผมว่า ทีแรกป้า ๆ ไม่ชอบพวกเอ็งเลย มาทำไรไม่รู้ เหมือนมาสั่ง ๆ และต้องทำ ๆ โดยที่ไม่เข้าใจพื้นที่เลย” แล้วทำอย่างไรให้ในระยะ 2 เดือนต่อมาเป็นที่รักของคนในชุมชนหรอ “พวกผมได้คำสอนของทีมประธานชุมชน ที่ถึงแม้เค้าจำไม่ค่อยชอบหน้าผมในตอนแรก แต่ป้า ๆ สอนเยอะมาก ทั้งวิธีการทำงานกับชุมชน ที่ต้องเข้าถึง ยืดหยุ่น เข้าใจ รวมถึงอย่าสั่ง” ซึ่งเป็นวิธีที่พอพวกผมปรับใช้แล้วดีขึ้นมาก ๆ ป้า ๆ ลุง ๆ ดูเอ็นดูมากขึ้น “สวนเกษตรชุมชนวัดโพธิ์เรียง สวนที่ใช้ความร่วมมือของหลายหน่วยงาน และพลังของชาวอาสาสมัคร” เป็นงานที่เป็นความฝันของพวกผม และเป็นงานที่ใหญ่มาก เพราะต้องใช้ทักษะประสานหลายสิ่ง ประสานชุมชน ประสานอาสาสมัคร ประสานศิลปิน แต่ผลงานที่ออกมาทำให้ผมประทับใจมาก เป็นสวนที่เติบโตพร้อมกับพวกผมจริง ๆ ครับ

โครงการ รักน้ำ รักปลา รักธรรมชาติบ้างนะ

ถ้าถามว่าเรารวมตัวกันได้อย่างไรเราก็ไม่รู้ แต่เราตั้งใจนะ 55555 เสียงเฮฮาของเด็ก ๆ ที่เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่แสนงงงวย แต่คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทีมบอกบ่อย ๆ คือ “เริ่มจากการที่เราได้เข้าไปบ้านรุ่นพี่โดยที่เขามีบ้านอยู่ในชุมชนนี้ โดยเราไปเห็นถึงสภาพพื้นที่ในชุมชน การไม่จัดการปัญหาขยะ และการที่ปล่อยให้ปัญหาขยะและน้ำเสียของในชุมชนดำเนินมาเป็นเวลานานทำให้เราอยากเข้ามาแก้ปัญหาในด้านนี้” ซึ่งชุมชนตรอกไผ่ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 19-23 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี กรุงเทพเป็นชุมชนที่เด็ก ๆ ได้ลองตั้งต้นเพื่อสรางการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในพื้นที่ โดยทีมมองเป้าหมายโครงการ คือ การไม่มีขยะเกิดใหม่ที่ถูกทิ้งในคลองและสองข้างทางเดินของชุมชน และความยั่งยืนในการที่คนในชุมชนช่วยกันไม่ให้มีขยะหรือน้ำเสียที่เกิดขึ้นอีก โดยวิธีการปลูกฝังความรู้สึกรักชุมชนของตนเอง ให้รู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของนะ เราต่างต้องช่วยกันดูแล และชวนชาวบ้านในชุมชนไปช่วยกันเก็บขยะในลำคลอง จากระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาบอกตรง ๆ คือ “ยากมากกกกก” เพราะความเป็นชุมชนเมือง รวมถึงชุมชนแห่งนี้ก็เป็นชุมชนทางผ่านของขยะที่เกิดจากหลายพื้นที่ไหลมาติดบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กในโครงการได้เรียนรู้คือ “อย่างน้อยเราเห็นปัญหา เราต่างรู้ว่าแก้ปัญหามันยากมาก ถ้าเราไม่อยากให้มีปัญหาก็อย่าสร้างปัญหา” แม้ชุมชนจะสะอาดขึ้นบ้างนิดหน่อยแต่คิดว่าการลงมือทำครั้งนี้น่าจะทำให้เด็ก ๆ ตระหนักเรื่องขยะในอนาคตไม่ว่าอยู่พื้นที่ไหน

โครงการ Auto – L ลดเสี่ยง เลี่ยงโรคห่างไกล COVID – 19

“เกือบ 5 ปีที่เราอยู่กับชุมชนตลาด 61 มา เราต่างผูกพัน และอยากช่วยให้พื้นที่นี้ดีขึ้นเมื่อมีโอกาส” หนึ่งในทีมได้บอกเล่าให้ฟังถึงแนวคิดและจุดเริ่มต้นในการทำโครงการนี้ที่ชุมชนตลาด 61 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพ จึงมีการรวมตัวกัน และอาศัยโอกาสในช่วงว่างหลังเรียนจบทดลองทำ ฝึกฝนประสบการณ์ต่าง ๆ เพราะตอนนี้ในตลาดชุมชนจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิในร่างกาย แต่ก็ต้องไปกดขวดแอลกอฮอล์ขวดเดียวกัน ซึ่งในขณะที่กดจะต้องสัมผัสโดยตรง ทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพภายหลังหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นี่คือการมองเห็นการพยามช่วยแก้ปัญหาท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทุกพื้นที่จากเด็กเยาวชนในโครงการที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่นั้น สิ่งที่ทีม Auto-L ได้ลองคิดค้นวิธีการเพื่อแก้ปัญหาคือสร้างเป็นเครื่องพ่นแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 % อัตโนมัติอย่างง่าย ที่มีต้นทุนไม่สูงและสามารถสร้างได้จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย เพื่อนำไปติดตั้งในจุดบริการตรวจคัดกรองประชาชนรอบชุมชนตลาด 61 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไปได้ใช้ในขณะที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาด เพื่อลดปัญหาการสัมผัสโดยตรงที่อาจส่งผลถึงปัญหาด้านสุขภาพในอนาคต ทั้งยังเป็นการสนับสนุนมาตรการการเฝ้าระวังและป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคโควิด – 19 ของภาครัฐอีกด้วย และจากการลงพื้นที่ทำจริงเครื่องเหล่านี้ที่เกิดขึ้นก็เป็นเครื่องเริ่มต้นที่ทำให้คนในชุมชนตลาด 61 สนใจและลองเข้ามามือส่วนร่วมในการดูแลเครื่องเหล่านี้ต่อด้วย เพราะเห็นถึงประโยชน์ของสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จริง ๆ

1 2 3 4 5 6 19