โครงการห้องสมุด

โครงการปันเวลา อ่านวันละนิด เป็นโครงการที่อยากชวนให้เด็กได้อ่านหนังสือก่อนเข้าเรียน เพราะเล็งเห็นประโยชน์จากการอ่านหนังสือของเด็ก ดำเนินการโดยการติดต่อประสานงานโรงเรียน พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อสอบถามความต้องการที่แท้จริงในเรื่องหนังสือ และระดมรับบริจาคหนังสือเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงหนังสือที่อยากอ่าน ตลอดเวลา 6 เดือน โครงการดําเนินไปได้ด้วยดี ถึงเเม้ว่าจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ทําให้ไม่สามารถเดินทางไปสํารวจในพื้นที่ได้ แต่ทีมก็ได้มีการติดต่อกับทางโรงเรียนเพื่อติดตามโครงการ โรงเรียนได้จัดกิจกรรมนั่งสมาธิเเละอ่านหนังสือ อุปกรณ์ที่เปิดรับบริจาค ได้เเก่ หนังสือ เเละของเล่นเสริมทักษะ ได้นําไปใช้ในกิจกรรม เเละมีการเก็บในชั้นวางหนังสือที่เราได้จัดเตรียมไว้ให้น้องๆในโรงเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เเละสนุกสนานกับกิจกรรมที่พวกเราได้วางเเผนไว้ การทำโครงการนี้สนุก แต่ก็มีความยากลำบากตรงที่พวกเราอยู่ต่างโรงเรียน เวลาในการนัดเจอเพื่อคุย ลงพื้นที่มีความยากลำบากแต่ก็ทำให้พวกเราได้รับประสบการณ์จริงในการทำงาน เช่น การจัดสรรเวลาที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้หากมีเวลา แต่ก็ขอบคุณเพื่อน ครูที่คอยช่วยเหลือกัน

โครงการอาสายุวกาชาด มศว รักษ์คลองแสนแสบ พ.ศ. 2563

โครงการอาสายุวกาชาด มศว รักษ์คลองแสนแสบ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางน้ำรวมทั้ง ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น สามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมไปใช้ในในชีวิตประจำวัน และผู้เข้าร่วมโครงการเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนของชุมชน โดยการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับคลองแสนแสบให้กับนักเรียนในชุมชนที่อยู่ใกล้กับคลองแสนแสบ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงกับคลองแสนแสบในเขตวัฒนา ได้แก่ โรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน และโรงเรียนวิจิตรวิทยา ในการดำเนินกิจกรรมงวดที่ 1 มีการประชุมวางแผน และลงพื้นที่ในชุมชน หลังจากการเกิด Covid-19 ทำให้ต้องมีการปรับแผนกิจกรรมเกือบทั้งหมด โดยจากที่มีการอบรมวิทยากรในการจัดกิจกรรม จำนวน 1 วัน และอบรมนักเรียนจำนวน 2 วัน เปลี่ยนเป็น การให้คำปรึกษาออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญ และลงทำกิจกรรมให้กับนักเรียนทั้ง 2 โรงเรียนคือ โรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน และโรงเรียนวิจิตรวิทยา โรงเรียนละ 4 ครั้ง รวม 8 ครั้ง โดยระยะเวลา ภาพรวมถูกปรับเปลี่ยนจากจบการดำเนินงานในช่วงเดือนพฤศจิกายนเปลี่ยนเป็นจบลงในปลายเดือนธันวาคม เบื้องต้นทางชุมชนและโรงเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมภูมิใจในการทำงานมาก เพราะได้เรียนรู้ ปรับตัว แก้ปัญหาในระหว่างการทำโครงการจนเกิดทักษะและสามารถนำไปใช้กับงานอื่นในคณะได้ เพราะทุกสัปดาห์ที่ไปลงพื้นที่ต้องเปลี่ยนแผนสัปดาห์ต่อสัปดาห์ทำให้ยากในเรื่องการจัดการ และที่ยากที่สุดคือการประสานงาน แต่พอผ่านมาได้รู้สึกดีใจมาก ๆ

โครงการ COVID – 19 Info

โครงการ COVID-19 Info เป็นโครงการออกแบบบอร์ดเกมเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 ซึ่งใช้เกมเป็น สื่อกลางเพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์และแนวทางการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยต่อสู้กับโรคนี้ ได้อย่างถูกต้อง โดยเกม COVID-19 Info ออกแบบให้กับผู้เล่นที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปสามารถเล่นได้ เนื้อหาภายในเกมจะเกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้ เห็นความสำคัญของการป้องกันเพื่อลดการแพร่ระบาดไม่ให้รุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มจากการรับผิดชอบดูแล กระบวนการทำงาน 1) การลงพื้นที่สำรวจมาตรการป้องกันไวรัสโควิด 19 ของโรงเรียนนาหลวง 2) กิจกรรม Play Test COVID-Info เป็นการจัดกิจกรรมทดลองเล่นบอร์ดเกมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 40 คน 3) การปรับปรุงและการผลิตเกมเพื่อมอบให้กับโรงเรียนนาหลวง จากการทำงานจริงทำให้ค้นพบว่า เด็กกับบอร์ดเกมเป็นของคู่กัน เด็ก ๆ ชอบบอร์ดเกม เพราะสนุก และเข้าใจง่าย ทีมเองก็รู้สึกดีใจที่ได้ใช้ทักษะมาทำงานให้เกิดประโยชน์กับชุมชน

โครงการ Din to Dream

“การทำโครงการทำให้พวกผมได้ประสบการณ์จากการทำงานชุมชนจริง ๆ” ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาพวกเขาต่างได้รับประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียง จนทำให้มีการเติบโตทางวิธีคิด ทักษะการทำงาน และภาวะผู้นำเป็นอย่างมาก “ป้า ๆ ทีมประธานชุมชนบอกผมว่า ทีแรกป้า ๆ ไม่ชอบพวกเอ็งเลย มาทำไรไม่รู้ เหมือนมาสั่ง ๆ และต้องทำ ๆ โดยที่ไม่เข้าใจพื้นที่เลย” แล้วทำอย่างไรให้ในระยะ 2 เดือนต่อมาเป็นที่รักของคนในชุมชนหรอ “พวกผมได้คำสอนของทีมประธานชุมชน ที่ถึงแม้เค้าจำไม่ค่อยชอบหน้าผมในตอนแรก แต่ป้า ๆ สอนเยอะมาก ทั้งวิธีการทำงานกับชุมชน ที่ต้องเข้าถึง ยืดหยุ่น เข้าใจ รวมถึงอย่าสั่ง” ซึ่งเป็นวิธีที่พอพวกผมปรับใช้แล้วดีขึ้นมาก ๆ ป้า ๆ ลุง ๆ ดูเอ็นดูมากขึ้น “สวนเกษตรชุมชนวัดโพธิ์เรียง สวนที่ใช้ความร่วมมือของหลายหน่วยงาน และพลังของชาวอาสาสมัคร” เป็นงานที่เป็นความฝันของพวกผม และเป็นงานที่ใหญ่มาก เพราะต้องใช้ทักษะประสานหลายสิ่ง ประสานชุมชน ประสานอาสาสมัคร ประสานศิลปิน แต่ผลงานที่ออกมาทำให้ผมประทับใจมาก เป็นสวนที่เติบโตพร้อมกับพวกผมจริง ๆ ครับ

โครงการ รักน้ำ รักปลา รักธรรมชาติบ้างนะ

ถ้าถามว่าเรารวมตัวกันได้อย่างไรเราก็ไม่รู้ แต่เราตั้งใจนะ 55555 เสียงเฮฮาของเด็ก ๆ ที่เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่แสนงงงวย แต่คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทีมบอกบ่อย ๆ คือ “เริ่มจากการที่เราได้เข้าไปบ้านรุ่นพี่โดยที่เขามีบ้านอยู่ในชุมชนนี้ โดยเราไปเห็นถึงสภาพพื้นที่ในชุมชน การไม่จัดการปัญหาขยะ และการที่ปล่อยให้ปัญหาขยะและน้ำเสียของในชุมชนดำเนินมาเป็นเวลานานทำให้เราอยากเข้ามาแก้ปัญหาในด้านนี้” ซึ่งชุมชนตรอกไผ่ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 19-23 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี กรุงเทพเป็นชุมชนที่เด็ก ๆ ได้ลองตั้งต้นเพื่อสรางการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในพื้นที่ โดยทีมมองเป้าหมายโครงการ คือ การไม่มีขยะเกิดใหม่ที่ถูกทิ้งในคลองและสองข้างทางเดินของชุมชน และความยั่งยืนในการที่คนในชุมชนช่วยกันไม่ให้มีขยะหรือน้ำเสียที่เกิดขึ้นอีก โดยวิธีการปลูกฝังความรู้สึกรักชุมชนของตนเอง ให้รู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของนะ เราต่างต้องช่วยกันดูแล และชวนชาวบ้านในชุมชนไปช่วยกันเก็บขยะในลำคลอง จากระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาบอกตรง ๆ คือ “ยากมากกกกก” เพราะความเป็นชุมชนเมือง รวมถึงชุมชนแห่งนี้ก็เป็นชุมชนทางผ่านของขยะที่เกิดจากหลายพื้นที่ไหลมาติดบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กในโครงการได้เรียนรู้คือ “อย่างน้อยเราเห็นปัญหา เราต่างรู้ว่าแก้ปัญหามันยากมาก ถ้าเราไม่อยากให้มีปัญหาก็อย่าสร้างปัญหา” แม้ชุมชนจะสะอาดขึ้นบ้างนิดหน่อยแต่คิดว่าการลงมือทำครั้งนี้น่าจะทำให้เด็ก ๆ ตระหนักเรื่องขยะในอนาคตไม่ว่าอยู่พื้นที่ไหน

1 2 3 4 5 7