โครงการ หล่อเหลือใช้

โครงการหล่อเหลือใช้เป็นโครงการที่พวกเรามีความตั้งใจอยาก “ลองลงมือทำ” อะไรบางอย่างให้ชุมชนจริง ๆ แม้พวกเราจะอยู่กันคนละโรงเรียนแต่พวกเราก็พยามกันอย่างเต็มที่ การเข้ากระบวนการปฐมนิเทศทำให้พวกเราได้ปรับเปลี่ยนโครงการไปเยอะมาก เน้นเรื่องของการ “เข้าใจ” กลุ่มเป้าหมาย ทำงานตรงกับความต้องการของชุมชนจริง ๆ จาก “โครงการเพาะเลี้ยงไก่” จึงมาเป็น “หล่อเหลือใช้” “หล่อเหลือใช้” มีความตั้งใจที่จะชวนคนในชุมชนได้ลองเอาขยะ หรือสิ่งของที่ไม่ใช้ในชุมชนมาทำให้เกิดประโยชน์ จึงมีการวางแผนการลงพื้นที่และทำงานเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพจริง ๆ ในการทำงานการดำเนินการเป็นไปอย่างเรียบร้อยและเหมาะสม มีการสำรวจผู้ที่มีความสนใจในการเข้าร่วมโครงการ และวางแผนการซื้อของเพื่อเตรียมตัวในการเริ่มจัดกิจกรรมให้เป็นไปได้อย่างเรียบร้อยและเหมาะสม และให้ฝ่ายจัดกิจกรรมสอบถามข้อมูลและจำนวนผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการทั้งหมด และกำหนดวันและตารางกิจกรรมในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสม การทำงานนี้ฝึกให้พวกเราได้เติบโตขึ้นมาก เพราะการทำงานนี้เป็นการทำงานที่ทำกับชุมชนจริง ๆ ทุกการทำงานต้องผ่านการระดมความคิดของทุกคนในทีม เพราะทุกคนในทีมต่างมีความคิดที่แตกต่างกันออกไปทำให้งานที่ออกมานั้นมีความหลากหลาย เช่น การดำเนินการจัดโครงการนั้นในทีมได้ช่วยกันออกความคิดเห็นในการวางแผนงานและการจัดกิจกรรมให้กับชุมชนและสังคม ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 เข้ามาทำให้เราไม่ได้ลงพื้นที่ไปทำต่อ แต่การทำงานกับชุมชนครั้งนี้ก็ให้บทเรียนหลายอย่างมาก เช่น การประสานงาน การคิดงานที่นึกถึงกลุ่มเป้าหมาย เอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยรวม ๆ ประทับใจมากจริง ๆ ครับ

โครงการ ขยะหมู่บ้านคืนชีพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ผักสวนครัว

โครงการขยะหมู่บ้านคืนชีพเพิ่มพื้นที่สีเขียวผักสวนครัว โดยทางทีมชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่ทำงานต่อเนื่องเรื่องการแยกขยะ ได้แก่ ขยะพลาสติกยึดหยุ่น ขยะพลาสติกแข็ง ขยะขวดพลาสติกใสและขุ่น ขยะฝาขวด ขยะหลอดพลาสติก ขยะกล่องนม ขยะกําพร้า และอื่น ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากสมาชิกภายในหมู่บ้านสิทธารมย์จํานวนหนึ่งที่ต่อเนืองกับทีมชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อมจนถึงปัจจุบัน วิธีการทำงาน คือ ทีมงานจะมีการจัดการกับขยะประเภทดังกล่าวแยกเป็น 2 ประเด็น คือ ส่งกลับไปรีไซเคิลให้กับหน่วยงานที่เกียวข้อง สร้างมูลค่าของขยะจากการจำหน่ายที่ร้านรีไซเคิล มูลค่าของขยะพลาสติก ถึงแม้การทำงานนี้ จะเป็นการทำงานของกลุ่มเล็ก ๆ แต่ทีมก็ได้มีการรวบรวมกลับไปรีไซเคิลและสร้างมูลค่าของขยะได้อย่างต่อเนือง และได้รับความร่วมมือจากสมาชิกภายในหมู่บ้านสิทธารมย์ที่สนใจ รวมถึงการบอกต่อ ๆ ก็ทำให้โครงการมีประโยชน์ต่อชุมชนมากขึ้น แต่ระหว่างการทำโครงการ บทเรียนสำคัญคือเรื่องสถานการณ์โควิด -19 และเรื่องเวลาเรียนที่ไม่ตรงกัน แต่ก็ต้องขอบคุณที่ปรึกษาโครงการที่มีการช่วยเหลืออย่างเต็มที่

โครงการ Online English Camp

โครงการ Online English Camp เกิดเพื่อเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจและมีความกล้าแสดงออกในการถามคำถามที่ตนเองไม่เข้าใจเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ และสามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยกลุ่มเป้าหมายอายุ 8-15 ปี ในระยะแรกได้ทำการสร้างเพจและประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่มเด็กนักเรียน, กลุ่มครูสอนพิเศษฟรี และโพสต์ประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook ส่วนตัว จนได้ผู้สนใจที่สามารถมาเป็นคุณครูอาสาให้เราได้ 11 ท่าน ในระหว่างนั้นก็ได้มีการสัมภาษณ์และคัดเลือกดูเทคนิคการสอนของคุณครูที่เข้ามาสอนก่อนเข้าสอนเด็กและเยาวชนในโครงการของเรา ตอนที่เริ่มโครงการครั้งแรกมีอุปสรรคคือความไม่สมดุลกันระหว่างจำนวนผู้เรียนและผู้สอนจึงทำให้บางสัปดาห์มีปัญหาจำกัดนักเรียนที่เข้าเรียน หรือบางสัปดาห์ก็จำเป็นต้องจำกัดจำนวนคุณครูที่เข้าสอน และการสอนแบบออนไลน์ 100 % จึงมีความวุ่นวายและเกิดปัญหาต่างๆ เช่น สัญญาเน็ตไม่ดีจึงทำให้เด็กนักเรียนบางส่วนไม่สามารถเข้าห้องเรียนได้ หรือคุณครูบางท่านมีปัญหาในการสอนเพราะสัญญาไม่ดีทำให้เกิดการดีเลย์ และเวลาที่จำกัดของ Zoom จึงทำให้คุณครูต้องสอนอย่างรวบรัดเข้าง่ายและต้องสามารถสรุปได้ภายใน 40 นาที รวมถึงมีนักเรียนบางส่วนที่ไม่ทราบห้องเรียนของตนเองจึงทำให้เกิดคำถามมากมาย ซึ่งในตอนแรกตอบช้ามาก ต่อมาพวกเราก็คุย และวางแผนใหม่เพื่อปรับการทำงาน ทำให้เราสามารถปรับวิธีแก้ความสมดุลเรื่องคุณครูที่เข้าสอนโดยการสอบถามเวลาว่างของคุณครู 3 วัน ก่อนเรียนและสามารถแก้ปัญหาจำนวนนักเรียนได้โดยการเปิดให้นักเรียนลงชื่อเข้าเรียน 3 วัน ก่อนเรียน สุดท้ายจะสรุปรายชื่อผู้ที่เข้ามาเรียนและสร้างห้องเรียนก่อนเรียน 1 วัน เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถรู้รายชื่อของเด็ก มีการเตรีมข้อมูลโครงการ ห้องเรียนแยก ทำให้เราสามารถตอบคำถามหรือปัญหาได้อย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นจึงทำให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น โครงการนี้จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่การทำงานนี้ทำให้เราได้ประสบการณ์จากการทำงานออนไลน์เยอะมากจริง […]

โครงการห้องสมุด

โครงการปันเวลา อ่านวันละนิด เป็นโครงการที่อยากชวนให้เด็กได้อ่านหนังสือก่อนเข้าเรียน เพราะเล็งเห็นประโยชน์จากการอ่านหนังสือของเด็ก ดำเนินการโดยการติดต่อประสานงานโรงเรียน พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อสอบถามความต้องการที่แท้จริงในเรื่องหนังสือ และระดมรับบริจาคหนังสือเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงหนังสือที่อยากอ่าน ตลอดเวลา 6 เดือน โครงการดําเนินไปได้ด้วยดี ถึงเเม้ว่าจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ทําให้ไม่สามารถเดินทางไปสํารวจในพื้นที่ได้ แต่ทีมก็ได้มีการติดต่อกับทางโรงเรียนเพื่อติดตามโครงการ โรงเรียนได้จัดกิจกรรมนั่งสมาธิเเละอ่านหนังสือ อุปกรณ์ที่เปิดรับบริจาค ได้เเก่ หนังสือ เเละของเล่นเสริมทักษะ ได้นําไปใช้ในกิจกรรม เเละมีการเก็บในชั้นวางหนังสือที่เราได้จัดเตรียมไว้ให้น้องๆในโรงเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เเละสนุกสนานกับกิจกรรมที่พวกเราได้วางเเผนไว้ การทำโครงการนี้สนุก แต่ก็มีความยากลำบากตรงที่พวกเราอยู่ต่างโรงเรียน เวลาในการนัดเจอเพื่อคุย ลงพื้นที่มีความยากลำบากแต่ก็ทำให้พวกเราได้รับประสบการณ์จริงในการทำงาน เช่น การจัดสรรเวลาที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้หากมีเวลา แต่ก็ขอบคุณเพื่อน ครูที่คอยช่วยเหลือกัน

โครงการอาสายุวกาชาด มศว รักษ์คลองแสนแสบ พ.ศ. 2563

โครงการอาสายุวกาชาด มศว รักษ์คลองแสนแสบ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางน้ำรวมทั้ง ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น สามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมไปใช้ในในชีวิตประจำวัน และผู้เข้าร่วมโครงการเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนของชุมชน โดยการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับคลองแสนแสบให้กับนักเรียนในชุมชนที่อยู่ใกล้กับคลองแสนแสบ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงกับคลองแสนแสบในเขตวัฒนา ได้แก่ โรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน และโรงเรียนวิจิตรวิทยา ในการดำเนินกิจกรรมงวดที่ 1 มีการประชุมวางแผน และลงพื้นที่ในชุมชน หลังจากการเกิด Covid-19 ทำให้ต้องมีการปรับแผนกิจกรรมเกือบทั้งหมด โดยจากที่มีการอบรมวิทยากรในการจัดกิจกรรม จำนวน 1 วัน และอบรมนักเรียนจำนวน 2 วัน เปลี่ยนเป็น การให้คำปรึกษาออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญ และลงทำกิจกรรมให้กับนักเรียนทั้ง 2 โรงเรียนคือ โรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน และโรงเรียนวิจิตรวิทยา โรงเรียนละ 4 ครั้ง รวม 8 ครั้ง โดยระยะเวลา ภาพรวมถูกปรับเปลี่ยนจากจบการดำเนินงานในช่วงเดือนพฤศจิกายนเปลี่ยนเป็นจบลงในปลายเดือนธันวาคม เบื้องต้นทางชุมชนและโรงเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมภูมิใจในการทำงานมาก เพราะได้เรียนรู้ ปรับตัว แก้ปัญหาในระหว่างการทำโครงการจนเกิดทักษะและสามารถนำไปใช้กับงานอื่นในคณะได้ เพราะทุกสัปดาห์ที่ไปลงพื้นที่ต้องเปลี่ยนแผนสัปดาห์ต่อสัปดาห์ทำให้ยากในเรื่องการจัดการ และที่ยากที่สุดคือการประสานงาน แต่พอผ่านมาได้รู้สึกดีใจมาก ๆ

1 2 3 6