จากคำถาม สู่เรื่องเล่าของเด็กอะไรไม่ไปโรงเรียน

เพราะพวกเขาเลือกที่จะจัดการการเรียนรู้ของตนเองในวิถีทางเลือก คำถามมากมายจึงประดังเข้ามาจนบางครั้งก็รู้สึกไม่อยากตอบ หรือแม้จะตอบ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปฏิกิริยาหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบ
ในขณะเดียวกัน เยาวชนกลุ่ม “วัยรุ่นบ้านเรียนล้านนา” ก็พบว่ามีเพื่อนๆ วัยเดียวกัน และครอบครัวอีกหลายครอบครัวที่ต้องการทางออกในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความชีวิตตนเองได้มากกว่าการเข้าระบบ แต่พวกเขายังขาดข้อมูลที่จะช่วยในการตัดสินใจเลือกปรับเปลี่ยนวิถีการเรียนรู้ของตนเอง

หนังสือ “เด็กอะไรไม่ไปโรงเรียน” จึงเกิดขึ้น ด้วยความพยายามของกลุ่มวัยรุ่นบ้านเรียนล้านนา แม้จะเริ่มต้นด้วยความรู้และประสบการณ์ในการทำหนังสือแทบจะเป็นศูนย์ แต่พวกเขาก็มีฐานความสามารถด้านศิลปะ และเครือข่ายผู้ใหญ่ใจดีที่เชี่ยวชาญด้านการทำหนังสือคอยให้คำแนะนำอยู่ตลอด

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาทำหนังสือเล่มนี้ได้สำเร็จ คือ ความตั้งใจและสู้ไม่ถอยของพวกเขาเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการทำหนังสือ ไปจนถึงขั้นตอนการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายหนังสือ
น้องมายด์ น.ส.กีรติกา มหัทธนผล เคยเล่าว่า “ต้องการจำหน่ายหนังสือ เพื่อนำส่วนที่เป็นกำไรไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ของกลุ่มต่อเนื่อง ยังมีกิจกรรมหลายอย่างที่หนูและเพื่อนๆ อยากทำและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน”

หลังจากแนะนำหนังสือไปได้ไม่นาน ก็มีคนสนใจสั่งหนังสือเข้ามามากมาย จนในที่สุดก็ต้องตีพิมพ์เป็นครั้งที่สอง…กำไรจากหนังสือเล่มนี้อาจจะยังไม่มากพอให้กลุ่มวัยรุ่นบ้านเรียนล้านนาได้ไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ แต่หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ การทำบ้านเรียน อันเป็นวิถีการเรียนรู้ของน้องๆ กลุ่มนี้ได้ดี
ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้คือกระบวนการเรียนรู้การสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นในแบบที่น้องๆ คนรุ่นใหม่เลือกที่จะลงมือทำเองทั้งกระบวนกการ เด็กนำผู้ใหญ่หนุน…อย่างแท้จริง หวังว่าน้องๆ จะไม่หยุดแค่นี้ จะมีผลงานสร้างสรรค์ดีๆ ออกมาอีกในไม่ช้า