โครงการพลังเยาวชนขจัดขยะบ้านห้วยขมิ้น
ผู้เขียน : บะหน้อยฮ่องเหมืองเจียงใหม่
หมู่บ้านห้วยขมิ้น เป็นหมู่บ้านที่ซ่อนกายอยู่หลังเขา ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีวิวทิวทัศน์งดงาม ช่วงฤดูหนาวอากาศจะหนาวจับขั้วหัวใจ ช่วงฤดูฝนการเดินทางสู่หมู่บ้านก็จะเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความสามารถและความอดทน นอกเหนือจากความพิเศษที่กล่าวมาแล้ว หมู่บ้านห้วยขมิ้นยังมีสิ่งพิเศษสุด ๆ นั่นคือ “พลังโจ๋” หรือพลังของกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านนั่นเอง
น้อง ๆ พลังโจ๋ในหมู่บ้าน ได้มองเห็นสิ่งแปลกปลอมในหมู่บ้านและชุมชนของตนเองว่ามีขยะจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นขยะที่เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก ส่วนที่สองเป็นขยะที่เกิดจากการทำอาหาร และส่วนที่สามเป็นขยะที่เกิดจากวัสดุทางการเกษตร เช่น เปลือกถั่ว เปลือกข้าวโพด รวมกับในหมู่บ้านห้วยขมิ้น ไม่มีถังขยะ ไม่มีการสอนการแยกขยะ และไม่มีระบบการจัดการขยะ ทำให้มีขยะสะสมจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็น ทำลายทัศนียภาพและความสวยงามของพื้นที่ในหมู่บ้าน กลุ่มพลังโจ๋ในชุมชน จึงได้ปรึกษาหารือร่วมกับพี่ดาริน แกนนำกลุ่มพลังโจ๋ในหมู่บ้านว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อให้หมู่บ้านและท้องถิ่นของตนเองกลับมามีความสวยงามอีกครั้ง โดยหลังจากการปรึกษาหารือร่วมกันแล้ว พลังโจ๋ในหมู่บ้านจึงได้คิดโครงการขึ้นมาโครงการหนึ่ง นั่นคือ “โครงการพลังเยาวชนขจัดขยะบ้านห้วยขมิ้น”
การเริ่มดำเนินการโครงการฯ มีการสอนการแยกขยะให้กับคนในหมู่บ้าน มีการตั้งจุดแยกขยะ และเพิ่มถังขยะในหมู่บ้านจำนวนมาก หลังจากเริ่มดำเนินโครงการฯ ไปแล้ว พลังโจ๋ก็พบเจอกับอุปสรรคอย่างหนึ่ง คือ ถูกกลุ่มชาวบ้านนินทาและไม่ให้ความร่วมมือแยกขยะเท่าที่ควร จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการโดยจัดแบ่งกองกำลังออกเป็นหน่วยความรับผิดชอบ คือ หน่วยแยกขยะ หน่วยเฝ้าระวัง และหน่วยจัดการ ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกัน เช่น หน่วยแยกขยะ จะเป็นผู้ริเริ่มในการเผยแพร่ความรู้ และแยกขยะภายในครัวเรือนของตนเอง ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง สร้างแรงกดดันโดยที่ไม่ต้องออกแรง หน่วยเฝ้าระวัง ทำหน้าที่ตักเตือน และดูแลถังขยะของโครงการฯ นอกจากนั้นแล้วยังคอยเก็บขยะทั่วหมู่บ้านอีกด้วย หน่วยสุดท้ายคือ หน่วยจัดการ มีหน้าที่ในการนำขยะที่ผ่านการแยกขยะ ในถังไปทำลาย ไปขายต่อ ไปรีไซเคิล และไปทำประโยชน์เท่าที่จะทำให้ขยะมีประโยชน์ได้ โดยทั้ง 3 หน่วยของกลุ่มพลังโจ๋ สามารถสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่กันได้ ไม่มีลักษณะตายตัว ซึ่งเป็นความต้องการให้พลังโจ๋ทุกคน ได้ทำหน้าที่ในทุกหน่วย และจะได้เกิดการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นจากหน้าที่เดิม ๆ ด้วย
สุดท้ายแล้ว พลังโจ๋ ก็สามารถทำให้คนในหมู่บ้านของตนเองตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะและการสร้างความสวยงามในหมู่บ้านผ่านการแยกขยะและจัดการขยะต่าง ๆ สร้างความภาคภูมิใจให้พลังโจ๋ เกิดรอยยิ้มที่กว้างขึ้น สอดคล้องกับภารกิจของ YIM PROJECT ที่สุดเลยจริง ๆ