อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นชื่อในเรื่องของหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าซิ่นตีนจก และผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือ ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่ผู้หญิงและผู้สูงอายุในชุมชนได้อย่างมาก แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 ขึ้น ทำให้กลุ่มชาวบ้านที่ทำหัตถกรรมผ้าทอประสบปัญหาการขาดช่องทางขายสินค้า เพราะมีการยกเลิกการจัดงานอีเว้นท์ด้านหัตถกรรมทั้งหมด ทำให้กลุ่มชาวบ้านไม่สามารถไปออกบูธขายสินค้าได้
กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนแม่แจ่ม ในนาม “กลุ่มต๊ะต่อนยอนละอ่อนแจ่ม(สร้างฝัน)” เห็นปัญหาที่เกิดกับกลุ่มผู้หญิงและผู้สูงอายุในชุมชน และเห็นว่าปัจจุบันมีการซื้อขายสินค้ากับบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเฟสบุ๊คที่ทุกคนต่างก็เล่นกันอยู่ทุกวัน เยาวชนกลุ่มนี้จึงได้คิดไอเดียที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการขายสินค้าหัตถกรรมผ้าทอแก่คนในชุมชน โดยรวมกลุ่มกันสร้างเพจในเฟสบุ๊ค ชื่อว่า เมืองแจ๋ม o-top สร้างฝัน ด้วยความหวังที่จะให้ชาวบ้านยังคงสามารถขายสินค้าได้ แม้จะไม่มีพื้นที่ในการไปออกบูธก็ตาม
การจะริเริ่มทำโครงการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นไม่ใช่เรื่องง่าย น้อง ๆ ทั้ง 5 คน พร้อมด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาต้องมีการศึกษาการขายสินค้าบนเฟสบุ๊คเพิ่มเติม เพราะต่อไปนี้ พวกเขาจะไม่ใช่แค่เล่นเฟสบุ๊คเพื่อความสนุก แต่ต้องมีความรู้ในการทำอาชีพขายสินค้าบนเฟสบุ๊ค เพื่อที่จะสามารถส่งต่อความรู้ดังกล่าว สู่กลุ่มผู้ผลิตผ้าทอมือและผลิตภัณฑ์จากผ้าทอในตำบลชองพวกเขา เมื่อเติมความรู้ให้ตัวเองแล้ว น้อง ๆ ก็เริ่มปฏิบัติการจัดทำเพจขายสินค้า โดยเริ่มจากการสำรวจสินค้าในตำบล สร้างความร่วมมือกับผู้ผลิตผ้าทอ เพื่อดูว่ามีท่านใดที่อยากจะเรียนรู้การขายสินค้าผ่านช่องทางเฟสบุ๊คบ้าง รวมถึงเพื่อทราบทักษะ และ เครื่องมือเบื้องต้นที่กลุ่มเป้าหมายสามารถใช้เป็นฐานในการขายสินค้าออนไลน์ได้
จากการลงพื้นที่ก่อนลงมือทำจริง ทำให้น้อง ๆ กลับมาปรับแผน จากการที่คิดว่าจะสอนให้ชาวบ้านแต่ละคนสามารถทำเพจเองได้ด้วย ขายสินค้ากันเองได้ด้วย เมื่อพบว่าชาวบ้านบางคนสูงอายุแล้ว ไม่ถนัดกับการใช้โทรศัพท์มือถือในการขายสินค้าออนไลน์ บางคนไม่สามารถอ่านหนังสือได้ น้อง ๆ จึงปรับตัวมาเป็นอาสาสมัครในการจัดทำเพจขายสินค้าอย่างเต็มตัว และดึงกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่พอจะมีทักษะหรือมีเครื่องมือ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ ที่สามารถขายสินค้าได้ เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย กัน รวมถึงลูกหลานผู้ผลิตที่สูงอายุก็มาเรียนรู้และช่วยกันทำคอนเท้นต์ในเพจ และสามารถกลับไปช่วยผู้ผลิตในการค้าขายสินค้าต่อได้ด้วย
โครงการของกลุ่มต๊ะต่อนยอนละอ่อนแจ่ม(สร้างฝัน) อาจจะยังไม่ได้สร้างเพจที่โด่งดัง มีคนเข้ามาติดตามเป็นหมื่นเป็นแสนคน แต่ก็เป็นช่องทางที่ทำให้คนในโลกโซเชียลได้มองเห็นคุณค่างานหัตถกรรมผ้าทอที่สวนงามผ่านคอนเท้นต์ในเพจ และทำให้ชาวบ้านและลูกหลานได้มีทักษะที่จำเป็นในการปรับตัวด้านการทำธุรกิจค้าขายเพิ่มขึ้น คือ การขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถใช้รับมือกับโควิด – 19 ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน