อยากลงมือช่วยสังคม…เริ่มต้นที่ “ปัญหา”

การทำโครงการเพื่อสังคม ก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาสังคมที่เราพบเจอในสังคมรอบตัวของเราให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ฉะนั้น จำเป็นมากที่เราต้องเข้าใจ “ปัญหา” ที่เราสนใจเป็นอย่างดี โดยความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา จะเป็นความรู้ฐานในการที่จะใช้ในออกแบบและกำหนดส่วนอื่น ๆ ที่เหลือของโครงการ แต่ในเวลาที่จะต้องวางแผนโครงการขึ้นมาจริง ๆ เรามักจะกระโดดข้ามการทำความเข้าใจกับปัญหา ไปที่การออกแบบวิธีการแก้ไข และ การกำหนดเป้าหมาย ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้มาเซอร์ไพร้ส์ทีหลังว่า อ้าว!!! วิธีการแก้ปัญหาที่เราใช้ มันเหมาะกับปัญหาที่เจอ ซึ่งที่เราเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ เพราะว่าเราไม่รู้ข้อมูลสำคัญบางอย่างไป หรือ อ้าว!!! เรากำหนดผลลัพธ์ที่เป็นไปไม่ได้จริง เพราะเราไม่ได้ดูข้อมูลปัญหาให้ถี่ถ้วน เป็นต้น

6 คำถาม เพื่อทำความเข้าใจ “ปัญหา” ที่อยากแก้

ส่วนใหญ่เวลาที่เรารู้สึกจี๊ดกับปัญหาสังคมจะเป็นจังหวะที่พวกเราได้เจอกับ “สถานการณ์” ที่สร้างความเดือดร้อน ความเครียด หรือความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ในสังคม แม้จะยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ แต่พวกเราก็จะพออธิบายได้ตามที่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่การรับรู้เพียงว่า “เกิดอะไรขึ้น” ไม่พอที่จะใช้ออกแบบการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีการวางเป้าหมาย มีวิธีการ มีการทำงานชัดเจน แบบโครงการเพื่อสังคม

วิธีการคลาสสิคที่ใช้ในการหาข้อมูล ความรู้ เพื่อจะทำความเข้าใจกับปัญหาที่เราสนใจให้กระจ่างมากขึ้น คือ การตั้งคำถาม แล้วหอบเอาคำถามของเราไปหาคนที่เราคิดว่าเขารู้ เช่น กลุ่มที่เราเห็นว่าน่าจะได้รับความเดือดร้อน องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือจะหอบคำถามไปหา Google ก็ไม่ว่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุด คำถามที่เราต้องตอบเกี่ยวกับปัญหาที่เราสนใจ คือ 5W + 1H

1. What ปัญหาที่เราสนใจคืออะไร ? ส่วนใหญ่เราจะสามารถตอบได้จากสถานการณ์ที่เราเห็น แต่คำอธิบายว่าปัญหาของเราคืออะไร เราต้องรู้ถึงสมการของปัญหา

จากตัวอย่างข้างต้น สิ่งที่ควรจะเป็น คือ ชุมชนสะอาด มีการทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ เราสังเกตเห็นว่าเห็นว่ามีขยะถูกทิ้งเกลื่อนไปหมด ไม่ทิ้งลงถัง ทำให้ชุมชนสกปรก ทำให้ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นหรือที่คาดหวังไว้ อีกทั้ง การที่ขยะถูกทิ้งเกลื่อน ชุมชนสกปรก โดยตัวมันเองก็ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนอยู่แล้ว หากมองตามนี้ สามารถตอบคำถามที่ว่าปัญหาที่สนใจคือะไร ก็สามารถตอบได้ว่า มันคือ “ปัญหาหมู่บ้านมีขยะเกลื่อนกลาดสกปรก” ซึ่ง What นี้เราสามารถปรับให้ชัดเจนขึ้นได้อีก หลังจากที่เราเข้าใจปัญหามากขึ้น

2. Why สาเหตุของปัญหานี้คืออะไร ต้องทำตัวเป็นเจ้าหนูจำไม คอยถามคำถาม “ทำไม” ไปหลาย ๆ ชั้น เพื่อให้เข้าใจสาเหตุของปัญหา ซึ่งปัญหาสังคมมักมีความซับซ้อน สำหรับการหาสาเหตุของปัญหา เราต้องถามไปลึกแค่ไหน มีเทคนิคที่มักใช้กัน คือ 5WHY คือ ถาม ทำไม 5 ครั้ง เพื่อหาสาเหตุที่ลึกลงไปของปัญหา โดยเราอาจจะเริ่มตอบจากสิ่งที่เราเห็น หรือเอาคำถามนี้ไปถามคนที่เกี่ยวข้องได้ เช่น กรณีหมู่บ้านนี้ เราอาจตั้งคำถามได้ดังนี้

Why 1 : ทำไมในหมู่บ้านจึงมีขยะเกลื่อนกลาดสกปรก

เพราะชาวบ้านไม่ทิ้งขยะลงถัง

Why 2 : ทำไมชาวบ้านจึงไม่ทิ้งขยะลงถัง

เพราะชาวบ้านไม่อยากแยกขยะ

Why 3 : ทำไมชาวบ้านจึงไม่อยากแยกขยะ

เพราะว่าตรงนั้นเป็นริมถนน ไม่มีใครอยากแวะแยกขยะทิ้ง มันร้อน มันเสียเวลา
ส่วนใหญ่ขับรถผ่านมา ก็โยนทิ้ง ๆ มา ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าจะลงถังหรือไม่

Why 4 : ทำไมพอเป็นริมถนน เป็นที่สาธารณะ คนไม่สนใจรักษาความสะอาด

ไม่รู้ แต่ชาวบ้านบางกลุ่มกับ อบต. ก็อยากจะรักษาความสะอาด จึงเอาถังขยะมาวางไว้ เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาแวะทิ้งขยะ แต่ก็ไม่ได้ผล

Why 5 : อุตส่าห์เอาถังขยะไปวางไว้ให้ แต่คนก็ยังไม่จอดทิ้งขยะลงถัง ทำไมนะ?

เพราะจุดวางถังขยะมีแค่จุดเดียว และแม้จะเป็นลานเล็ก ๆ ที่จอดรถได้ แต่ก็มีหญ้ารก ไม่มีร่มเงา และเป็นช่วงที่เป็นทางโค้ง คนจึงอาจจะไม่อยากจอดรถเพื่อทิ้งขยะ ไหนจะต้องแยกขยะอีก
ถ้าต้องใช้เวลาในการทิ้ง แล้วมันร้อนและรก ก็คงไม่จอด

การถาม Why ต่อไปเรื่อย ๆ 5 ครั้ง ทำให้เราได้สาเหตุของปัญหาที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างกรณีปัญหาขยะ เราจะเห็นว่าสาเหตุมีที่เราควบคุมได้ คือ การวางถังขยะ ที่ดูแล้วเราน่าจะพอปรับเปลี่ยนได้ กับสาเหตุที่เราควบคุมไม่ได้ คือ การทิ้งขยะของคนที่ผ่านไปมา เพราะเป็นถนน เราไม่สามารถมาคอยไล่จับคนที่ทิ้งขยะได้ตลอดเวลา เป็นต้น ข้อมูลนี้ก็จะสามารถใช้ในการทำงานต่อของเราได้ เช่น ถ้าจะเลือกทำงาน เราก็อาจจะเลือกทำงานในสาเหตุที่เราควบคุมจัดการได้

3. Who เป็นคำถามเกี่ยวกับคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ เราต้องหาคน 2 กลุ่มสำคัญ คือ

  1. ใครคือผู้ประสบปัญหา? ใครคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ เช่น กรณีขยะที่ยกมานี้ ผู้ประสบปัญหาได้แก่
    • ชาวบ้านชุมชนที่ถนนตัดผ่าน ที่ต้องกลายเป็นหมู่บ้านที่สกปรก เพราะมีขยะริมถนนเกลื่อนกลาดไปหมด บางครั้งก็ได้รับอันตรายจากขยะ เช่น เศษขวดที่โยนทิ้งแล้วแตก เศษตะปู/เหล็ก แทงล้อรถ เป็นต้น ถนนกลายเป็นที่สกปรก เพาะเชื้อโรคไป
    • อบต. ต้องใช้งบประมาณและกำลังคนมาจัดเก็บขยะอยู่เรื่อย ๆ
  2. ใครคือผู้สร้างปัญหา?
    • ชาวบ้านและคนอื่น ๆ ที่ผ่านทางไปมา แล้วทิ้งขยะลงมาริมถนน

ในปัญหาที่มีความซับซ้อน มีคนได้รับผลกระทบหลายแบบ ความรุนแรงก็ต่างกัน และ ก็มีคนสร้างปัญหาหลายรูปแบบ เราควรระบุออกมาให้ครบถ้วนที่สุด

***หมายเหตุ*** ในที่นี้ ใช้คำว่า “ผู้ที่สร้างปัญหา” ก็เพื่อระบุให้เห็นว่าเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหา แต่อย่าเผลอเอาคำนี้ไปเรียกเขา หรือไปต่อว่า/ตัดสินคนกลุ่มนี้ เพราะมันมีสาเหตุเช่นกันในการที่เขาทำพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหา เราต้องทำความเข้าใจเขามากพอ ๆ กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ

4. When ปัญหานี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่? และเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อไหร่? เราจำเป็นต้องรู้ เพราะการรู้ช่วงเวลา อาจทำให้เราเจอข้อมูลสำคัญบางอย่าง โดยอาจจะใช้เส้นเวลา หรือ Timeline เข้ามาช่วย เพื่อให้เห็นภาพ และเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้เราทราบถึงปัญหาได้

ถ้าดูจาก Timeline เราจะพอเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเปิดแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องใช้เส้นทางผ่านหมู่บ้านเข้าไปเที่ยว กับ การมีขยะมากขึ้นตามถนน ซึ่งเราสามารถโยงกลับไปที่กลุ่มคนที่ทิ้งขยะว่าส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ผ่านทางเพื่อไปน้ำตกนั่นเอง

5. Where ปัญหานี้เกิดขึ้นที่ไหน? จากข้อมูลในข้อต้น ๆ เราเห็นแล้วว่าปัญหาเกิดขึ้นที่บริเวณหมู่บ้านที่มีถนนตัดผ่าน และปัญหาขยะเกลื่อนกลาด ก็เกิดขึ้นบริเวณริมถนนที่ผ่านหมู่บ้าน ถ้าปัญหามีเกิดขึ้นหลายจุด ก็สามารถระบุออกมาได้

6. How much ปัญหานี้รุนแรงแค่ไหน ? ความรุนแรงของปัญหา อาจจะดูได้จากผลกระทบที่เกิดกับผู้ประสบปัญหา เช่น ปัญหาเคยทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างไร? เดือดร้อนขนาดไหน? ในพื้นที่เดียวกันและใกล้เคียง มีคนเดือดร้อนจากปัญหานี้เยอะแค่ไหน? นอกจากนี้ เรายังดูว่ามีคนได้รับผลกระทบในวงกว้างขนาดไหน? เช่น ปัญหาขยะเกิดกับทุกชุมชนที่ถนนเส้นนี้ตัดผ่านไปสู่น้ำตกหรือไม่? ถ้าใช่ แสดงว่าปัญหาได้กระจายออกไปกว้าง มีคนได้รับผลกระทบมากอย่างแน่นอน การดูว่าปัญหารุนแรงหรือไม่นี้ จะมีประโยชน์คือ

  • ใช้ข้อมูลเรื่องนี้ในการทำให้คนเห็นความสำคัญของปัญหา
  • ใช้ข้อมูลเรื่องนี้เลือกเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข หรือ กลุ่มคนที่ต้องรีบช่วย
  • ใช้ข้อมูลเรื่องนี้ในการหาแนวร่วมผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมกันได้

เมื่อตอบ 5w + 1H แล้ว น้อง ๆ น่าจะสามารถสรุปออกมาเป็นเรื่องราวปัญหาที่เจอออกมาได้ และได้ข้อมูลในการที่จะใช้วางแผนในเรื่องอื่น ๆ ของโครงการต่อไป

วิธี “หาคำตอบ” เพื่อทำความเข้าใจ “ปัญหาสังคม”

มาถึงตอนนี้ น้อง ๆ อาจจะกำลังมีคำถามว่า “แล้วพวกเราจะไปหาคำตอบของคำถามพวกนี้มาได้อย่างไร?” วิธีการไม่ต่างจากการที่เราหาข้อมูลทำรายงาน หาข้อมูลของที่เราอยากซื้อ หรือข้อมูลเกี่ยวกับไอดอลที่เราชอบ เพียงแต่เราจะต้องจัดเก็บข้อมูลเป็นระเบียบ เพื่อให้เราเอามาใช้ได้ง่าย และอาจจะมีการต้องออกไปคุยกับคนเยอะสักหน่อย เพราะมันเป็นเรื่องของชุมชน มีคนที่เกี่ยวข้องมากกว่าแค่ตัวเราเองหรือเพื่อนเรา เพราะฉะนั้น เราก็ต้อง up ทักษะการพูดคุยกับคนที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อมูล

การหาข้อมูลเพื่อตอบคำถาม 5W + 1H ทำได้ตาม 4 ขั้นตอนนี้

  1. ตั้งคำถาม ก่อนจะไปคุย ต้องมีการเตรียมก่อนว่าข้อมูลที่เรายังไม่รู้มีอะไรบ้าง แล้วคำถามที่จะไปถามมีเรื่องอะไร เตรียมให้เหมาะกับคนแต่ละกลุ่มที่จะไปคุยด้วย
  2. เก็บรวบรวมข้อมูล เวลาไปเก็บข้อมูล ต้องเตรียมการบันทึกด้วย อาจจะใช้การจดบันทึก วาดภาพ อัดเสียง ถ่ายรูป ถ่ายวิดิโอ ซึ่งในการเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ 3 วิธีหลัง จะต้องขออนุญาตคนที่เราคุยด้วยก่อนทุกครั้ง เพื่อไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเพื่อปกป้องผู้ให้ข้อมูล ในกรณีที่เขามีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยข้อมูลปัญหากับเรา
  3. นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และจัดทำออกมาให้เข้าใจง่าย เช่น การจัดหมวดหมู่เนื้อหา การรวบรวมข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ อาจจะทำแผนภูมิ แผนผัง แผนที่ เพื่อแสดงข้อมูลออกมาให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือทำเป็น mindmap ก็ได้ ในส่วนที่เป็นเรื่องราว เราอาจจะลองสรุปความเข้าใจของเรา แล้วเขียนเอาไว้ เพื่อสะดวกในการที่จะใช้งานต่อไป
  4. ใช้ข้อมูลที่ได้ ข้อมูลที่ผ่านการจัดการมาแล้ว สามารถนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น เราอาจจะเอาไปใช้ในการวางแผนโครงการ เขียนโครงการ หรือการใช้สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้คนในปัญหานี้ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ต่อไป

เมื่อเราทำความเข้าใจกับปัญหามากขึ้น เราจะเห็นจุดที่น่าจะเข้าไปทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา เป็นจุดที่นอกจากเราจะสนใจแล้ว ก็ยังเป็นจุดที่น่าจะแก้ไขได้จริงเมื่อพิจารณาเวลา ความสามารถ และทรัพยากรที่เรามี เมื่อเราเข้าใจปัญหา และระบุจุดที่เราต้องการจะทำงานด้วยได้แล้ว เราก็พร้อมจะไปต่อกับการตั้งเป้าหมาย ซึ่ง YIM Clinic จะมาเล่าถึงวิธีการตั้งเป้าหมาย ที่จะทำให้การทำโครงการของน้อง ๆ มีเข็มทิศสู่ความสำเร็จที่ชัดเจน ในครั้งต่อไป คอยติดตามกันนะคะ