เชื่อว่าพวกเราเยาวชนคนรุ่นใหม่น่าจะเคยเจอภาวะไอเดียมาถึงทางตัน เห็นปัญหาอยู่ใกล้ๆ ตัว แต่ไม่รู้จะหาไอเดียอะไรมาจัดการกับปัญหาเหล่านั้น หรือบางทีมุกเดิมๆ ที่เคยใช้ก็เริ่มไปไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของปัญหาสังคมเสียแล้ว แต่ในเมื่อปัญหายังไม่หมดไป และหัวใจเรายังอยากจะสู้ต่อ เราจะสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างไรกัน วันนี้ yimproject.org มีสูตรสร้างไอเดียใหม่ๆ มาให้ลองนำไปใช้กัน สูตรลับที่ว่านี้คือ O-R-B-I
O – Observation ทุกความรู้ ทุกไอเดียใหม่ๆ ในโลกใบนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากบางสิ่งที่มาสะกิดสมองเรา ซึ่งเราจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อเราเริ่มสังเกต หรือ Observation คนที่มีความคิดสร้างสรรค์บนโลกนี้มักจะเป็นคนที่รู้จักสังเกตแม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ และการสังเกตนี้เองที่เป็นการเปิดมุมมองให้ประสบการณ์ใหม่ๆ รอบตัวได้ทักทายเรา และที่สำคัญ นอกจากจะสังเกตสิ่งรอบตัวแล้ว จุดเริ่มต้นของไอเดียเจ๋งๆ เพื่อสังคมจำนวนมากก็มาจากการสังเกตตนเอง เรื่องราวอะไรที่มันกวนใจเรา เห็นแล้วหงุดหงิดทุกที ปัญหาอะไรที่ทำให้เราคันสมอง คันมือ อยากลองแก้ไข หรือจุดที่เราว่าติดขัดในการทำงาน เมื่อสังเกตจากตัวเราแล้ว สิ่งไหนที่ทำให้เราอึดอัด จุดติดขัดหรือจุดอึดอัดพวกนี้หากเราลองสังเกตดีๆ มันอาจจะกลายเป็นจุดออกจากปัญหาเลยก็ได้
R – Research การค้นคว้าหาความรู้จะช่วยให้เราได้เห็นไอเดียอันหลากหลายของคนอื่นๆ ปัจจุบันการค้นคว้าหาความรู้อยู่แค่ปลายนิ้วกับคลื่นไวไฟแล้ว ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เชื่อว่าเราน่าจะได้เจอความรู้ที่จะช่วยให้เราเกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ นอกจากในระดับการเกิดไอเดียแล้ว การค้นคว้าหาความรู้จะช่วยให้เราต่อยอดไอเดียที่เราปิ๊งจากการสังเกตให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นด้วย สิ่งที่จะทำให้เราสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้รวดเร็วและได้ข้อมูลที่ใช้งานได้ คือ หากเราสังเกตเห็นอะไรที่น่าจะเป็นไอเดียใหม่ๆ แล้ว ลองตั้งคำถามกับมันว่าเราอยากจะรู้อะไรต่อ คำถามชัดๆ ทำให้เราพุ่งตรงไปยังข้อมูลที่เราต้องการ แหล่งความรู้ที่เราต้องการ ทำให้ไม่เสียเวลา
B – Brainstorm การระดมความคิด ถ้าคิดเองไม่ออกก็ถึงเวลาต้องเรียกเพื่อนแล้ว มีคำคมของฝรั่งที่แปลเป็นไทยว่า “มีไอเดียมากไว้ก่อนดีกว่ามีไอเดียที่ดีที่สุด” แน่นอนว่าไอเดียที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์หนึ่งๆ จะต้องมีอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีไอเดียมากๆ ไว้เป็นทางเลือก เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าไอเดียที่เราว่าดีที่สุด มันดีจริงๆ ดังนั้น ชวนเพื่อนมาช่วยกันออกความคิดเห็น เคล็ดลับคืออย่างเพิ่งตัดสินว่าไอเดียไหนดี ไม่ดี ถูก หรือผิด เปิดโอกาสให้ทุกไอเดียได้ออกมาโลดแล่นในแผ่นกระดาษให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยๆ คุยกันว่าแต่ละไอเดียมีความเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร การระดมความคิดนี้ เราทำได้ตั้งแต่ยังสังเกตไม่เห็นอะไร ไม่ได้ค้นคว้าอะไรมาเลยก็ได้ หรือจะไปทำการบ้านสองข้อแรกกันมาก่อน แล้วค่อยมาระดมความคิดกันก็ยิ่งดีใหญ่ แต่ละไอเดียที่เสนอกันมาก็มีโอกาสที่จะเจ๋งเป้ง ใช้งานได้จริงมากขึ้น เผลอๆ อาจเกิดการควบรวมหลายๆ ไอเดียเข้าด้วยกัน กลายเป็นไอเดียสายพันธุ์ใหม่ที่สร้างสรรค์สุดๆ เลยก็ได้
I – Imagination พวกเราน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ซึ่งก็เป็นเพราะจินตนาการคือสิ่งที่จะช่วยเชื่อมโยงต่อยอดความรู้ไปสู่การใช้งานจริงนั่นเอง หากเรามีไอเดียต่างๆ ในหัว ลองจินตนาการไปให้สุดทางว่าถ้าเราเอามันไปใช้จริงๆ กับกลุ่มเป้าหมายหรือสถานการณ์ที่เราเจอ มันน่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันมีความเป็นไปได้ทางไหนบ้าง จะจินตนาการคนเดียว หรือชวนเพื่อนมาจินตนาการด้วยก็ไม่ว่ากัน ในขั้นตอนนี้ การวาดภาพในง่ายๆ เพื่อสะท้อนจินตนาการลงบนกระดาษหรือเขียน My Map จะช่วยให้เราเห็นจินตนาการของเราเป็นรูปธรรม ชวนเพื่อนมารับรู้ได้ด้วย ช่วยกันคิดได้
เมื่อไหร่ไอเดียตีบตันหรือถึงเวลาที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง แต่ยังหาหนทางไม่ได้ ลองหยิบ O – R – B – I ไปใช้ดู ที่สำคัญ “หลายหัว ดีกว่าหัวเดียว” เรียกเพื่อนไปช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออกด้วยกัน เชื่อว่าไอเดียจะบรรเจิดแน่นอน