ผู้เขียน : เสาวลักษณ์ เขียนนอก มูลนิธิวายไอวาย
ในร้านกาแฟเล็กๆ ที่มีลูกค้ามากกว่าทุกวัน เยาวชนหนุ่มสาวตัวแทนผู้ทำโครงการเพื่อชุมชนจากบ้านสบลาน กำลังให้สัมภาษณ์ทีมงานติดตามหนุนเสริมโครงการจากผู้สนับสนุนอย่างออกรส ขณะที่ฉันชวนพี่เลี้ยงทั้งสองของพวกเขาแยกตัวออกมาพูดคุยถึงการทำงานร่วมกับพวกเขาตลอดระยะเวลากว่าหกเดือนที่ผ่านมา
ครูนิด อรพินทุ์ กุศลรุ่งรัตน์ และครูปู๋ แสงวรรณ์ ปาลี สองสาววัยต่างที่ทำงานกันอย่างใกล้ชิดในการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนบนพื้นที่สูงแห่งบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ณ ศูนย์การศึกษาโจ๊ะมาโลลือหล่า หรือเรามักเรียกศูนย์การศึกษาว่า “โจ๊ะ” และเรียกนักเรียนที่เรียนที่นั่นว่า “เด็กโจ๊ะ” ความพิเศษของโจ๊ะมาโลลือหล่า คือ การสร้างการเรียนรู้ผ่านการทำโครงการ เด็กโจ๊ะทุกคนต้องมีโครงการเป็นของตัวเอง โดยเลือกจากสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และเรียนรู้สิ่งที่ตนสนใจผ่านโครงการของตัวเอง งานของครูที่โจ๊ะ ไม่เฉพาะครูนิดกับครูปู๋ จึงเป็นเรื่องของการหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือทำงานจริงของนักเรียน มากกว่าจะเป็นเรื่องการสอนตามแบบแผนอย่างที่เราเคยเห็นตามโรงเรียนทั่วไป
ครูนิดเล่าให้ฟังว่าในการทำโครงการของเด็กโจ๊ะแต่ละคน เขาจะต้องคิดว่าโครงการที่อยากทำนั้นเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และส่วนรวมอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นหลักการที่ตรงกันกับโครงการหนุนเสริมเยาวชนจิตอาสาสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อท้องถิ่น หรือ YIM เชียงใหม่และลำพูน 59 แต่ส่วนที่เข้มข้นขึ้น คือ การที่เยาวชนจะได้สัมผัสสภาพความเป็นจริงในการทำงานมากขึ้น และต้องไปทำงานกับคนอื่นๆ นอกเหนือจากเพื่อนๆ และครูในโจ๊ะมาโลลือหล่า และนั่นคือแรงบันดาลใจแรกที่ทำให้ครูนิดเชียร์ให้เด็กโจ๊ะส่งโครงการเข้ามาร่วมในโครงการ YIM เชียงใหม่และลำพูน 59
โครงการของเด็กโจ๊ะผ่านการคัดเลือก 5 โครงการ แต่ได้ดำเนินโครงการสร้างสรรค์เพื่อชุมชนทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสหกรณ์โรงเรียนและชุมชนเพื่อรื้อฟื้นวิถีการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาและเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน และโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทัวร์ไพรตามแนวกันไฟ ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ ริเริ่มจากความสนใจของตัวเยาวชนผู้ดำเนินโครงการเอง แต่ละโครงการต้องอาศัยการทำงานร่วมกับชุมชนพื้นที่เป็นอย่างมาก แม้ว่าสองในสามโครงการจะดำเนินงานโดยเยาวชนในพื้นที่เอง และเป้าหมายของโครงการก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชน แต่การที่เยาวชนกลุ่มหนึ่งจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ต้องพูดถึงอีกหนึ่งโครงการที่ดำเนินงานโดยเยาวชนที่มิใช่ลูกหลานของคนในชุมชน แม้เป้าหมายจะมุ่งไปที่ประโยชน์ส่วนรวมของพื้นที่ แต่การจะสร้างความเข้าใจและความร่วมมือก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ตอนเริ่มโครงการ พวกเขาเจอแรงต้านเยอะมากๆ ส่วนหนึ่งเพราะอายุเขายังน้อยด้วย ซึ่งก็ธรรมดาที่คนจะไม่เชื่อว่าเขาจะทำได้” ครูนิดเล่าถึงอุปสรรคที่เด็กโจ๊ะต้องเผชิญ “เราประทับใจที่เขาไม่ถอดใจ ตัดสินใจเดินหน้าต่อแม้จะเจอแรงต้านก็ตาม ปัจจุบันก็ดีขึ้น ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น และตัวเขาเองก็ทำงานจริงทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเขาเอาจริง เริ่มมีคนร่วมมือมากขึ้น”
จากแรงต้านที่เจอจากชุมชน ฉันถามครูนิดและครูปู๋ว่าเวลาน้องๆ เหล่านี้ท้อแท้ ครูนิดและครูปู๋มีวิธีการหล่อเลี้ยงกำลังใจพวกเขาอย่างไร สิ่งที่ครูนิดให้ความสำคัญมากตั้งแต่เริ่มลงมือคิดโครงการ คือ การต้องทำให้น้องๆ วางใจให้ถูกที่
“การวางใจให้ถูกที่ คือ การให้เขาโฟกัสไปที่การเรียนรู้ ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ชื่อเสียง หรือแม้แต่ความสำเร็จของโครงการก็ไม่ใช่ แต่มันคือการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น เพราะการโฟกัสไปที่การเรียนรู้ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น หรือต่อให้โครงการล้มเหลว การทำงานของพวกเขาก็ไม่สูญเปล่า แต่มันเกิดการเรียนรู้ในบางเรื่องขึ้นอย่างแน่นอน” ครูนิดยังบอกอีกว่า “ต้องคุยเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อที่ว่าระหว่างทางเมื่อเขาเจอปัญหาอุปสรรค เราจะชวนเขาคุยและย้อนกลับมาที่เรื่องนี้เสมอ ให้เขาไม่หลงลืมว่าเขาทำอะไร สิ่งที่เขาต้องโฟกัสคือการเรียนรู้ ใจของเขาก็จะเปิดกว้างขึ้น พร้อมเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น”
ครูนิดและครูปู๋เสริมว่าเด็กโจ๊ะทุกคนมีความใกล้ชิดกับครูอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีการพูดคุย ปรึกษา กระตุ้น ในเรื่องการทำงานกันอย่างสม่ำเสมอ โดยครูนิดและครูปู๋จะใช้เทคนิควิธีการหลากหลาย ยืดหยุ่นไปตามสภาวะของน้องๆ ในแต่ละช่วง บางสภาวะก็ต้องพูดตรงและดูแรง จนเหมือนเล่นบทโหดเพื่อให้เขาเห็นความจริงหรือกระตุ้นให้เขาลุกขึ้นมาทำบางอย่าง แต่บางครั้งก็ต้องปลอบ ต้องให้กำลังใจ เพื่อให้เขามีแรงสู้ต่อ แต่ทุกครั้งพี่เลี้ยงทั้งสองคนก็แบ่งบทบาทกัน ถ้าคนหนึ่งเล่นบทโหดแล้ว อีกคนก็ต้องเป็นที่พักพิงให้เขา ให้เขามีที่กลับไปพักเพื่อสู้ต่อด้วย นอกจากเรื่องของมุมมองและกำลังใจแล้ว ในเรื่องเชิงความรู้และทักษะก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเสริมให้กับพวกเขาด้วย โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการโครงการ ระบบบัญชี และการสื่อสาร ครูนิดกล่าวว่า “เนื่องจากบริบทการทำงานของเด็กๆ เกี่ยวข้องกับชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขาเหมือนกัน เช่น เรื่องบัญชี ซึ่งทั้งเด็กๆ และชาวบ้านเองก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก่อน หรือบางเรื่องก็มีความเปราะบาง เช่น การเซ็นต์ชื่อเข้าประชุมเพื่อนำไปเป็นหลักฐานทางบัญชี พี่เลี้ยงก็ต้องทำให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องเหล่านี้ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถอธิบายกับชาวบ้านได้ในเวลาที่เข้าไปทำงาน คือ นอกจากจะทำให้เขาเข้าใจเพื่อทำงานโครงการได้แล้ว ก็เพื่อที่เขาจะสามารถไปสื่อสารกับชาวบ้านได้อย่างถูกต้องด้วย”
โครงการเด็กโจ๊ะทั้งสามโครงการกำลังจะจบลงแล้วในปีนี้ น้องๆ เตรียมตัวช่วยครอบครัวทำนาตามวิถีท้องถิ่น แต่เมื่อหมดฤดูกาลทำนา พวกเขามุ่งมั่นที่จะต่อยอดโครงการที่ตนเองทำมาแล้วให้ยั่งยืนในชุมชน ฉันรู้ดีว่านี่คือสัญญาณของการเติบโตไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนทั้งสามโครงการ เราจะหนุนเสริมให้เขาเติบโตอย่างต่อเนื่องได้อย่างไรบ้าง ในเรื่องนี้ ครูนิดมองว่า “ควรมีโครงการแบบ YIM เชียงใหม่และลำพูน 59 ให้เยาวชนในช่วงวัยนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขามีพลังและต้องการใช้พลัง ถ้าเรามีโครงการให้เขาได้ใช้พลังในทางสร้างสรรค์ เชื่อว่าผ่านโครงการแบบนี้ไปแล้ว เขาจะไม่เสียคนแล้ว เพราะเขารู้ว่าเขาทำสิ่งที่มีประโยชน์ได้” ครูปู๋เสริมว่า “การให้โอกาสเยาวชนได้ทำเพื่อชุมชนเป็นสิ่งที่สร้างคนได้จริง จากที่สังเกตเด็กๆ ก็เห็นว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปจากการได้ลงมือทำงานกับปัญหาจริง ระบบจริง และการเอาตัวเข้าไปทำงานในชุมชนจริงๆ พวกเขาโตขึ้น ทำงานเป็นระบบขึ้น และสื่อสารกับทีมและชาวบ้านได้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นฐานที่ดีที่จะทำให้เขาพร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อีกมาก” ฉันถามต่อว่าแล้วถ้าในพื้นที่ที่ยังไม่มีน้องๆ ที่พร้อมลุกขึ้นมาทำโครงการเพื่อชุมชน เราจะส่งเสริมอย่างไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้เขาค่อยๆ กล้าที่จะลุกขึ้นมามากขึ้น ครูนิดกับครูปู๋มองว่า “พื้นที่ต้องเปิดโอกาสให้เขารู้ว่าโอกาสมีอยู่เสมอ พร้อมเมื่อไหร่ก็มาทำได้”
การสัมภาษณ์น้องๆ ผู้ดำเนินโครงการทั้งสามโครงการจบลงหลังจากที่ฉันจบการพูดคุยกับครูนิดและครูปู๋เล็กน้อย แต่พวกเขายังไม่ไปไหน ยังมีรายงานโครงการย่อยที่ต้องช่วยกันทำต่อที่ร้านกาแฟแห่งนี้ เช่นเดียวกับที่ชุมชน ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องราวให้พวกเขากลับไปสร้างความเปลี่ยนแปลง ก่อนลากัน ฉันกล่าวขอบคุณ ไม่ใช่เพียงเพราะเขาสละเวลามาพูดคุยด้วย ไม่ใช่เพียงเพราะเขาทำโครงการเพื่อชุมชน แต่อีกเหตุผลสำคัญที่ฉันต้องขอบคุณ คือพวกเขาเติมความหวังต่อสังคมนี้ให้กับหัวใจของฉันอีกครั้ง.
—
ศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชน โจ๊ะมาโลลือหล่า
๑๒๘ หมู่ ๖ บ้านสบลาน ต.สะเมิงใต้ สะเมิง จ.เชียงใหม่